X

อดีตจำเลยคดี “แพะชิงเพชร” ร้องสื่อ !! ตกในวังวนเงินกู้นอกระบบ

นครพนม – อดีตจำเลยคดี “แพะชิงเพชร” ร้องสื่อ !! ตกในวังวนเงินกู้นอกระบบ ผลพวงมาจากคนของรัฐยัดเยียดข้อกล่าวหา วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564  ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จากนายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์ อายุ 51 ปี อดีตผู้ถูกกล่าวหาในคดีแพะชิงเพชรมูลค่า 15,800,000 บาท เมื่อปี 2560 และภรรยาชื่อนางสาวดารีวรรณ พ่อวงค์ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเช่าเลขที่ 1 ถนนนครพนม-ท่าอุเทน ซอยสุขาวดี 1 ชุมชนบ้านกกต้อง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ว่า หลังจากได้รับอิสรภาพตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 ชีวิตครอบครัวต้องประสบปัญหาด้านการเงินจำนวนมาก เนื่องจากระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรี ภรรยาต้องกู้ยืมเงินญาติเป็นค่าพาหนะขึ้น-ลงกรุงเทพ-นครพนมทุกอาทิตย์ เป็นเวลานานกว่า 7 เดือน

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านเช่าหลังดังกล่าว โดยด้านหน้าเปิดเป็นร้านขายบะหมี่และข้าวเหนียวนึ่ง ขณะที่ด้านในเปิดเป็นร้านเสริมสวย พบสองสามีภรรยาได้มาเล่ารายละเอียด ว่า ช่วงได้รับอิสรภาพใหม่ๆก็ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรมประมาณ 200,000 บาท และนายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์ค พิทบูล” อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เข้ามามุงชายคาบ้านเพื่อเปิดเป็นร้านขายของ พร้อมกับเงินอีก 5,000 บาท และมีกลุ่มเพื่อนปิยะ 17  โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนเจ้าของบ้านเช่าช่วยเหลือ 8,000 บาท ฯลฯ รวมๆแล้วได้เงินช่วยเหลือประมาณ 2 แสนเศษ

ทั้งนี้เงินที่ได้มาส่วนหนึ่ง ก็ต้องนำไปชำระหนี้ญาติที่ยืมมาเกือบ 5 แสนบาท โดยนำเงินสดอีก 150,000 บาท เป็นค่าทนายฟ้องกลับผู้กล่าวหาคือเจ้าของร้านเพชร ทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนจึงจำเป็นต้องเข้าสู่วังวนเงินกู้นอกระบบ เพราะทางครอบครัวไม่มีหลักทรัพย์ใดๆมาค้ำประกันกับธนาคาร ซึ่งการกู้เงินนอกระบบจะได้เงินสูงสุด 10,000 บาท ส่งวันละ 500 บาท เป็นเวลา 24 วัน แต่การชักหน้าไม่ถึงหลังก็จำเป็นต้องกู้นายทุนรายอื่นหมุนเวียนกัน ทำให้ตนหลุดจากวังวนนี้ไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ครอบครัวไม่เคยเจอปัญหาหนักขนาดนี้มาก่อน มันเป็นผลผลิตของคนของรัฐในระบบกล่าวหา จึงอยากวิงวอนไปยังหน่วยงานของรัฐ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหาแหล่งเงินที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้หลุดพ้นจากวังวนเงินกู้นอกระบบ ทุกวันนี้ก็ยังต้องค้างชำระค่าไฟฟ้าอีกหลายเดือน จึงขอความเมตตาหน่วยงานภาครัฐด้วย

ด้านนายพิสิษฐ์ผู้ถูกกล่าวหาคดีแพะชิงเพชร เล่าว่าอดีตมีรถยนต์ปิกอัพ 1 คัน ใช้ประกอบอาชีพกับครอบครัว บางครั้งเงินขาดมือก็จะนำรถไปเข้าไฟแนนซ์ จึงมีเอกสารบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ประกอบในการกู้ยืม จากนั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ขณะขายของอยู่ที่บ้าน ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลจังหวัดสีคิ้ว โดยกล่าวหาว่าตัวเองไปฉ้อโกงที่ดินมูลค่า 30 ล้านบาท เหตุเกิดที่ สภ.สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ด้วยความบริสุทธิ์จึงยอมเดินทางไปที่อำเภอสูงเนิน เมื่อผู้เสียหายมาดูตัวแล้วก็บอกว่าไม่ใช่คนนี้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเสาธง ได้ถือหมายจับศาลอาญาธนบุรี กล่าวหาวิ่งราวทรัพย์  ความผิดต่อเสรีภาพ เป็นเพชรมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท  เหตุเกิดเมื่อ วันที่ 28 ธ.ค. 59 และมีการควบคุมตัวไปสอบสวนดำเนินคดีต่อที่ สน.บางเสาธง กทม.  ทั้งที่ตนให้การปฏิเสธยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด แต่ก็เริ่มผิดสังเกตตั้งแต่ตำรวจเข้าไปจับกุมตัวที่บ้านแล้ว ไม่เคยถามถึงเรื่องการฉ้อโกงที่ดิน กลับถามแต่ว่าเอาเพชรไปไว้ที่ไหนบ่อยมาก และยังมีการทำร้ายร่างกายถึงขณะนี้ยังมีร่องรอยเป็นกระดูกซี่โครงโก่งนูนขึ้นมา

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาครอบครัวของตนก็เปลี่ยนไป ภรรยาต้องดิ้นรนต่อสู้เข้าร้องทุกข์ไปยังหลายหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงยุติธรรม และดีเอสไอ เพื่อหาความยุติธรรมให้ครอบครัว และนำพยานหลักฐานไปยืนยันพิสูจน์ความจริง โดยทางนายพิสิษฐ์ต้องตกเป็นเหยื่อในคดีแพะชิงเพชร ถูกขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเวลา 7 เดือน 10 วัน จนกระทั่งศาลอาญาธนบุรีพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวสู่อิสรภาพ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 60 โดยก่อนจะพิจารณาคดีทั้งอัยการและตำรวจต่างกล่าวอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ กระทั่งศาลท่านถามกลับมาว่า”พวกคุณเล่านิทานจบหรือยัง?”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ศาลอาญาธนบุรีนัดพิพากษา คดีขโมยเพชร มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท โดยมีนายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์  ตกเป็นจำเลย โดยศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานเห็นว่ามีพยานโจทก์ 2 ราย ซึ่งเคยเห็นหน้า ผู้ก่อเหตุ 2 ครั้ง และเบิกความยืนยันว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ก่อเหตุ นอกจากนี้หมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้เสียหายอ้างว่า คนร้ายใช้โทรมาซื้อเพชร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นชื่อของนายพิสิษฐ์จริง แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่า เป็นของนายพิสิษฐ์จริงหรือไม่

ขณะที่จำเลยนำพยานบุคคล รวมถึงแพทย์ที่รักษา มาเบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่จังหวัดนครพนม และเข้ารักษาโรคกระเพาะ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า คนร้ายที่ก่อเหตุเป็นนายพิสิษฐ์ ศาลจึงพิจารณายกฟ้องและออกหมายปล่อยตัว

ซึ่งฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 จากนั้นฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ขอยื่นฎีกา คดีแพะชิงเพชรจึงคดีสิ้นสุดในวันที่ 24 ธันวาคม 2561 แต่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ต้องมารับผลกระทบจากการกระทำของคนของรัฐ จนมีหนี้สินพะรุงพะรัง จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ

สำหรับคดีเพชรถูกโจรกรรม มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม  2559 ในบ้านแห่งหนึ่งเขตภาษีเจริญ กรุงเทพ และตำรวจติดตามไปจับกุมตัวนายพิสิษฐ์ ที่บ้านเช่าในจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560  จากนั้นภรรยาของนายพิสิษฐ์ ร้องขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรมว่า สามีของเธอไม่ใช่คนร้าย และต่อสู้จนได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน