นครพนม – รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 11 กลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 นครพนมเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 12 อำเภอ จำนวนทั้งสิ้น 68 โครงการ วงเงินงบประมาณ 59,035,800 บาท
วันที่ 7 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานนำคณะทำงานกลั่นกรอง คณะที่ 3 ลงพื้นที่ร่วมประชุมพิจารณากลั่นกรองแผนงานโครงการที่จังหวัดสกลนคร มุกดาหาร และนครพนม ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในอำนาจของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล (รองนายกรัฐมนตรี) สำหรับจังหวัดในเขตตรวจราชการที่ 11 โดยมีตัวแทนของแต่ละจังหวัดเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนงานโครงการที่ขอรับการสนับสนุน
ข่าวน่าสนใจ:
ในส่วนของจังหวัดนครพนม นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำคณะทำงานเข้าให้ข้อมูลที่จังหวัดได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวนทั้งสิ้น 68 โครงการ วงเงินงบประมาณ 59,035,800 บาท ประกอบไปด้วยอำเภอนาหว้า 21 โครงการ , อำเภอท่าอุเทน 3 โครงการ , อำเภอนาทม 6 โครงการ , อำเภอเมืองนครพนม 9 โครงการ , อำเภอนาแก 9 โครงการ , อำเภอปาก 6 โครงการ , อำเภอศรีสงคราม 4 โครงการ , อำเภอวังยาง 2 โครงการ , อำเภอบ้านแพง 2 โครงการ , อำเภอเรณูนคร 2 โครงการ อำเภอธาตุพนม 2 โครงการ และอำเภอโพนสวรรค์ 2 โครงการ
โดยแยกเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานถนนแอสฟัลติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) /ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและถนนลูกรัง จำนวน 40 โครงการ วงเงินงประมาณรวม 34,495,700 บาท โครงการด้านฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 26 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 12,767,100 บาท โครงการก่อสร้างสะพาน จำนวน 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ 11,280,000 บาท และโครงการติดตั้งโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1 โครงการ วงเงินงบประมาณ 493,000 บาท ขณะที่จังหวัดสกลนครขอรับการสนับสนุน 41 โครงการ วงเงิน 25,815,400 บาท โดยเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานทำถนนและขุดลอกแหล่งน้ำ ส่วนจังหวัดมุกดาหาร ขอรับการสนับสนุน 8 โครงการ วงเงิน 35,944,700 บาท เป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานทำถนน ขุดลอกแหล่งน้ำและโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
ทั้งนี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้ขอให้คณะทำงานของแต่ละจังหวัดไปทบทวนในเนื้อหารายละเอียดการขอรับการสนับสนุนงบประมาณแต่ละโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขุดลอกเพิ่มเติม เช่น ขอให้ระบุว่าปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนคืออะไร ปริมาณดินที่ขุดมีปริมาณเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายในการเคลียร์พื้นที่เพื่อให้รถเข้าไปทำงานเท่าไหร่ จากนั้นให้แนบเอกสารเพิ่มเติมในส่วนนี้เข้ามาอีกครั้งเพื่อรับการพิจารณา เนื่องจากว่ารองนายกรัฐมนตรีต้องการให้งบประมาณในอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติเกิดความคุ้มค่า สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่มากที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: