นครพนม – เกษตรนครพนม เสริมความรู้ !! หนุนเกษตรกรปลูกเงาะโรงเรียนและมังคุด ยกระดับการผลิตไม้ผลนครพนมให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม จัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้การปลูกเงาะโรงเรียนและมังคุด ตามมาตรฐาน GAP ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นสร้างความเข้าใจและมีความรู้ด้านวิชาการในการปลูกสร้างสวนไม้ผลที่ถูกต้องและการปลูกไม้ผลให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยมีนายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เป็นประธานเปิดการอบรม ซึ่งในครั้งนี้มีเกษตรกรที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน
การปลูกไม้ผลนั้น นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่เกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ และไม้ผลอีกหลายชนิด อีกทั้งพื้นที่ในจังหวัดนครพนมมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกไม้ผล สามารถให้ผลผลิตได้ดี เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินสูงและที่ดอน มีป่าไม้สลับกับพื้นที่ราบ พื้นดินส่วนมากเป็นหินลูกรัง บางส่วนมีลักษณะเป็นเนินและที่ต่ำสลับกัน สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 140 เมตร และมีจำนวนวันฝนตกประมาณ 139 วัน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,245.5 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 38.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 7.6 องศาเซลเซียส ทำให้จังหวัดนครพนม สามารถปลูกพืชเขตร้อนได้ทุกชนิด
ข่าวน่าสนใจ:
- จ.นครพนม บูรณาการร่วมปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลลอยกระทง 2567
- คิดจะค้ายาฯ ขอให้..คิดถึงคุก!!
- กล้องวงจรปิดจับภาพ แม่รับลูกซ้อน 4 กลับจากโรงเรียน ชนรถ พ่วงบาดเจ็บสาหัส ลูกร้องระงม
- นบ.ยส.24 บูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.นครพนม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือตรวจพื้นที่อาคารหลังศูนย์ฟื้นฟู…
ด้านนายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยว่า “จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และส้มโอ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเกษตรกรในพื้นที่ทดลองปลูกและสร้างเป็นสวนไม้ผลเชิงการค้าจนประสบความสำเร็จหลายราย สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับสินค้าเกษตรของจังหวัดนครพนมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับอาเซียน จากการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งมีกิจกรรมในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพร้อมมอบต้นพันธุ์เงาะโรงเรียน และมังคุดให้กับเกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ยังมีช่องทางการตลาดภายในปะเทศ และต่างประเทศที่มีความต้องการสูง สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกได้ในทุกๆปี ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาส และช่องทางการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทางการตลาดทั้งภายในและเพื่อการส่งออกต่างประเทศของจังหวัดนครพนม จึงเห็นควรมีการส่งเสริมให้มีการผลิตเงาะโรงเรียน และมังคุด เพื่อให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดนครพนม โดยเน้นการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ การผลิตโดยลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาการผลิต โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกร นักวิชาการ พ่อค้า องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างช่องทางการตลาด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตแบบเกษตรแปลงใหญ่ เป็นชุมชนผู้ผลิตที่เข้มแข็ง เพิ่มมูลค่าของสินค้า เชื่อมโยงการตลาด และยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร ในจังหวัดนครพนม
และในปี 2564 สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรในการปลูกเงาะโรงเรียนและมังคุด เพื่อการค้า ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จังหวัดนครพนม โดยแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. อบรมถ่ายทอดความรู้การปลูกเงาะโรงเรียนและมังคุดตามมาตรฐาน GAP และ2. กิจกรรมจัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบการปลูกเงาะโรงเรียนและมังคุดแบบผสมผสาน ซึ่งมีเกษตรกรที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจาก 12 อำเภอ แบ่งการอบรมออกเป็นจำนวน 3 รุ่นๆละ 100 คน รวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 300 ราย ซึ่งในการจัดอบถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้มีการสาธิตการปลูกไม้ผลพร้อมการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งเกษตรกร 1 รายจะได้รับต้นพันธุ์เงาะโรงเรียน จำนวน 3 ต้น มังคุด 2 ต้น และปุ๋ยคอก ซึ่งเมื่อเกษตรกรได้รับต้นพันธุ์ไปแล้วก็สามารถนำไปปลูกได้อย่างถูกต้องและเจริญเติบโตได้ดี ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านไม้ผลภายนอกจังหวัด และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สามารถผลิตไม้ผลที่มีคุณภาพและมาตรฐานออกสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืน และคาดว่าเมื่อเกษตรกรได้รับความรู้และปัจจัยการผลิตต่างๆที่เป็นการสนับสนุนให้กับเกษตรกรจะทำให้การปลูกเงาะโรงเรียน และมังคุด สามารถให้ผลผลิตได้ดี ผลผลิตออกสู่ตลาดและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: