นครพนม – ชาวสวนสับปะรดหวานท่าอุเทนยิ้ม !! เกษตรนครพนมช่วยกระจายผลผลิต เปิดช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ สู้วิกฤตโควิดที่กระทบ
คืบหน้า กรณีชาวสวนสับปะรดหวาน อำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม วอนหน่วยงานรัฐช่วยเหลือหาช่องทางระบายสับปะรด เนื่องจากมีราคาตกต่ำจากพิษโควิดระลอกใหม่ ผู้คนไม่เดินทางออกจากบ้าน ด่านการค้าชายแดนถูกปิดยาว ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ทำให้ยอดขายสับปะรดลดลง โดยในแต่ละปีขายในกิโลกรัมละ 20-25 บาท มีโรงงานรับซื้อให้กิโลกรัมละ 7-10 บาท แต่ปีนี้เจอพิษโควิดระบาดรอบนี้สาหัสมาก ทำให้ชาวสวนต้องลดราคาลงเหลือกิโลกรัมละ 10-15 บาท ทั้งนี้โรงงานรับซื้อให้เพียงกิโลกรัมละ 4-5 บาท จากปกติขายได้วันละ 2,000-4,000 บาท เหลือรายได้เพียงวันละ 400-500 บาท เดือดร้อนหนัก แต่เกษตรกรก็ยอมรับว่าแม้ต้องประสบปัญหาขาดทุนแต่ก็ต้องทนขายกันต่อไป ดีกว่าปล่อยผลผลิตเน่าทิ้งไปเฉย ๆ ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุด วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สับปะรดหวาน อ.ท่าอุเทน พืช GI นครพนมนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดนครพนม ที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนสับปะรดอำเภอท่าอุเทน และอำเภอโพนสวรรค์ ในช่วงเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดในปริมาณที่มาก ทำให้ผลผลิตสับปะรดในพื้นที่มีมากกว่าปกติ และอาจส่งผลให้ผลผลิตมีราคาที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามกลไกด้านการตลาดทั่วไป
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม จัดกิจกรรมปั่นจักรยานชายโขงทุกวันอาทิตย์ ส่งเสริมการปั่นจักรยานออกกำลังกาย กระตุ้นให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- นรข.เขตนครพนม มอบผ้าห่ม สร้างความอบอุ่นให้ชาวบ้าน
- "ผู้ว่าฯ นครพนมนำทีม! ปลูกผักสวนครัวสู่ความมั่นคงทางอาหาร แนวพระราชดำริ 'THE CONCEPTS OF CHANGE FOR 5 G'"
- **"ดร. ศุภพานี อ้อนชาวนครพนม! สานต่อโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน วอนขอโอกาส อย่าให้พ่ายเลือกตั้ง"**
สำหรับช่องทางการจำหน่ายเกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตที่โรงงานในราคากิโลกรัมละ 4- 5 บาท และจำหน่ายที่หน้าสวนในราคา กิโลกรัมละ 8 – 10 บาท ซึ่งเกษตรกรชาวสวนสับปะรดบางรายบอกว่า ตนเองพอใจที่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคากิโลกรัมละ 8 – 10 บาท เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่จะต้องระมัดระวังและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ลดลง อีกทั้งการสัญจรไปมาที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทำให้มีผู้บริโภคที่ลดลง
“จากผลกระทบดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ประสานให้สำนักงานเกษตรอำเภอท่าอุเทน และสำนักงานเกษตรอำเภอโพนสวรรค์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลผลิตสับปะรดถึงหน้าสวนของพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งช่วยเร่งระบายและกระจายผลผลิตสู่ตลาด เพื่อเป็นการป้องกันผลผลิตที่อาจจะได้รับความเสียหาย”
เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจัดการด้านการตลาด สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ส่งเสริมและขับเคลื่อนตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ให้กับเกษตรกรได้มีความรู้ เทคนิค และวิธีการจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบตลาดออนไลน์มากขึ้น มีการเปิดช่องทางการจำหน่ายผลผลิตสับปะรดแบบออนไลน์ เช่น www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com และเพจ facebook “ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ จังหวัดนครพนม” ซึ่งจะเป็นช่องทางในการโปรโมทและช่วยในการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการนำผู้ผลิตและผู้บริโภคมาเจอกันโดยตรง ทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่ดี มีคุณภาพและราคาสุดประหยัด จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันอุดหนุนและสั่งซื้อสับปะรดหวาน ซึ่งสามารถสั่งซื้อผลผลิตได้ที่ เพจ facebook “ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ จังหวัดนครพนม” หรือกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรดอำเภอท่าอุเทน และอำเภอโพนสวรรค์ หรือ โทร 064 – 3667223, 098-1707112,080-1800015 เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ## ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด###
สับปะรดหวานอำเภอท่าอุเทน และอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ได้ชื่อว่าเป็นสับปะรดหวานที่สุดในประเทศไทย เป็นชนิดพันธุ์ปัตตาเวียสายน้ำผึ้ง ซึ่งได้มีการนําต้นพันธุ์มาปลูกจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเป็นต้นตระกูลที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งเมื่อมาเจอกับสภาพอากาศและสภาพดินในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน และ อ.โพนสวรรค์ ทำให้สับปะรดมีการกลายพันธุ์จนมีรสชาติที่หวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้น ตาตื้น จนได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (พืช GI) ของจังหวัดนครพนม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีคุณภาพอีกหนึ่งชนิด ปัจจุบันจังหวัดนครพนม มีพื้นที่ปลูกสับปะรด จำนวน 5,500 ไร่ โดยแบ่งเป็นอำเภอโพนสวรรค์ จำนวน 1,500 ไร่ และอำเภอท่าอุเทน จำนวน 4,000 ไร่ (ที่มา: สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม, 2564)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: