นครพนม – ใกล้ปลอดโควิด แห่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนแน่น เปิด 5 ช่องทางจองคิว ตั้งเป้า 170,000 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีข่าวเฟคนิวส์ (Fake News) เผยแพร่ในโลกโซเซียลมีเดีย เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) แล้วมีคนเสียชีวิต โดยอ้างว่าได้จากสำนักข่าวต่างประเทศ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ตรวจสอบรายละเอียดและชี้แจงว่า การกล่าวอ้างข้อมูลดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด แต่ทำให้ประชาชนชาวไทยที่เสพข่าวดังกล่าวต่างตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ
และช่วงต้นเดือนพฤษภาคม มีสาวรายหนึ่งโพสต์ข้อความอ้างว่าเป็นผู้รับวัคซีนซิโนแวค โดสที่ 2 ที่ฉีดวัคซีนในพื้นที่ จ.อุดรธานี หลังฉีด 3 นาที ก็มีอาการชาไปทั้งร่างกาย ก่อนจะตรวจพบว่า มีเลือดออกในสมอง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ว่า มีประสิทธิภาพเหมาะสมหรือไม่ รวมไปถึงตำหนิไปยังรัฐบาลจากกลุ่มที่ไม่ชื่นชอบรัฐบาล ถึงการที่นำวัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพมาฉีดให้กับประชาชน
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนมเดือดร้อน! แม่ค้าหวยร้องไห้ รถจักรยานยนต์พร้อมลอตเตอรี่เกือบ 600 ใบถูกขโมย วอนคนร้ายนำมาคืน
- 35 ปีแก่งเสือเต้น นักวิชาการยกย่องต้านเขื่อนขนาดใหญ่ด้วยสิทธิชุมชน
- UNDP และ ม.อ๊อกซ์ฟอร์ด เผยวิจัยใหม่ แนะแนวทางยุติความยากจนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- สองวัยรุ่นอดีตนักเรียนอาชีวะถูกคู่อริตามมาดักยิง ต้องบิดมอไซค์หนีตายฝ่าเข้าฝูงชน
ล่าสุด เพจ “Street Hero Project” ได้ออกมาเปิดเผยว่า ภาพดังกล่าวที่ผู้ป่วยเป็นผื่นขึ้นเต็มตัว และถูกนำไปแอบอ้างว่าเป็นผลมาจากการแพ้วัคซีนโควิด-19 นั้น เป็นภาพของผู้ป่วยเป็นผื่นที่ รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ไม่ใช่ภาพของหญิงสาวที่แพ้วัคซีนที่อุดรธานีแต่อย่างใด ทาง รพ. จะดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้ภาพดังกล่าว และขอให้ช่วยกันส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม
ด้านจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่มบอบบางที่ป่วยเป็น 7 โรคเรื้อรัง “ตัวผมเองฉีดครบแล้ว 2 เข็ม มีอย่างเดียวคือตื่นเต้นตอนแรก นอกนั้นไม่มีอะไรเลยคุณหมอก็ฉีดกันครบหมด วันนี้เราจะเร่งรัดการลงทะเบียนให้พี่น้องประชาชนนครพนมทุกคนเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด และก็ต้องอย่าลืมนะว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด เราต้องฟังหมอเป็นหลัก”
นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่าต้องการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด ขอยืนยันว่าถ้าฉีดแล้วไม่เสียชีวิตจากโรคโควิด 100 % ส่วนที่กังวลกันว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไร เท่าที่ตรวจพบหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว มีอาการแขนขาอ่อนแรงในระยะ 1-2 วัน จากนั้นอาการก็ดีขึ้นตามลำดับ โดยตนเองเข้าไปตรวจพบว่าตอนนี้ผู้รับวัคซีนรายนั้นทำงานได้อย่างปกติทุกอย่าง ขอให้มั่นใจได้เลยว่าวัคซีนโควิดไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่จะปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิดแน่นอน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 170,000 ราย
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ได้เปิดรับจองคิวเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนจองคิวได้ 5 ช่องทาง คือ (1)ลง Application Line OA หมอพร้อม หรือ NPM-Covid-19 (2)ติดต่อ รพ.สต.ในพื้นที่ หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ( 3) Hotline สายด่วนวัคซีนของแต่ละโรงพยาบาล (4) รถ Mobile Vaccine Unit ในชุมชน และ (5) ลงทะเบียนได้โดยตรงกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน
โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ประกอบด้วย 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคไตวายเรื้อรัง 4.โรคหลอดเลือดสมอง 5.โรคมะเร็ง 6.โรคเบาหวาน และ 7.โรคอ้วน ลงทะเบียนจองคิวได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และเริ่มฉีดวัคซีนฯ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไป (อายุ 18-59 ปี) เริ่มลงทะเบียนเดือนกรกฎาคม 2564 เริ่มฉีดเดือนสิงหาคม 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังประชาชนทราบข้อเท็จจริงแล้ว ก็ได้ทยอยลงทะเบียนจองคิวเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 มีประชาชนกลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนฯ แล้ว จำนวน 5,156 คน ทั้งนี้ โรงพยาบาลนครพนมมีศักยภาพในการให้บริการฉีดได้วันละ 1,000 คน โรงพยาบาลธาตุพนมและโรงพยาบาลศรีสงคราม บริการฉีดได้วันละ 450 คน และโรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ สามารถให้บริการฉีดได้วันละ 300 คน คาดว่าจะมีประชาชนลงทะเบียนจองคิวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ จากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตราเซเนกาแล้ว โดยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลก และการได้รับอนุมัติทะเบียนโดยองค์การอนามัยโลกนี้ จะช่วยเร่งการเข้าถึงวัคซีนโดยผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์ สำหรับ 142 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งผลการทดลองทางคลินิกในผู้เข้าร่วมการทดลอง 60,000 คน และข้อมูลการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาในประชากรหลายสิบล้านคนทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ผู้รับวัคซีนสามารถทนต่อผลข้างเคียงของวัคซีนได้ดี และวัคซีนยังช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในทุกระดับความรุนแรง
หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป รวมไปถึงองค์การอนามัยโลก ให้ข้อสรุปว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: