นครพนม – ว.การบิน ม.นครพนม ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกว่า 15 ล้าน หลังผู้บริหารหูทวนลม ลอยแพนานถึง 4 เดือน รมว.เอนกโดนด้วย
วันที่ 2 มิถุนายน 2564 เวลา 11.00 น. พล.อ.อ.อารมย์ ปัถวี อดีตรักษาการคณบดีวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม (ว.การบินฯ) พร้อมครูฝึกบินและบุคลากรฯ จำนวน 15 คน เข้าหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายกับทนายความคือนายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ ณ สำนักงานกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ผดุงยุติธรรม และทนายความ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังสวนหลวง ร.9 ถนนประชาอุทิศ ต.หนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม หลังจาก พล.อ.อ.อารมย์ฯพร้อมกับพวกรวม 33 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 มหาวิทยาลัยนครพนม(มนพ.) ตลอดจนคณะบุคคล,อดีตนายกสภา มนพ. ,กลุ่มผู้บริหารทั้งชุดเก่าและชุดปัจจุบัน รวม 14 คน ในจำนวนจำเลยทั้ง 14 คนหนึ่งในนั้นคือ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(รมว.อว.) ในข้อกล่าวหา ละเมิด,ผิดสัญญา,เรียกค่าเสียหาย จำนวนเงิน 15,202,805 บาท (สิบห้าล้านสองแสนสองพันแปดร้อยห้าบาทถ้วน) ตามคดีหมายเลขดำ 806/64 ศาลจังหวัดนครพนม ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564
พล.อ.อ.อารมย์ ปัถวี อดีต รก.คณบดี ว.การบินฯ เปิดเผยว่า หลังจากมีคณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.ในขณะนั้น ) ประกอบด้วย 1.นายสุเมธ แย้มนุ่น ประธานกรรมการ 2.รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ 3.รศ.เจษฏ์ โทณะวณิก 4.รศ.กำจร ตติยกวี 5.รศ.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย และ 6.นางอรสา ภาววิมล เป็นกรรมการ รวม 6 คน โดยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ 103/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ตามความในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนมพ้นจากหน้าที่ โดยแต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยนครพนม(มนพ.) แทนผู้บริหารชุดเดิม ถึงเวลานี้เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ปัญหาที่หมกหมมยังไม่คลี่คลาย ตรงกันข้ามกลับนำอดีตผู้เคยทำงานกับผู้บริหารชุดก่อน เข้ามาอยู่ในตำแหน่งสำคัญแทบครบถ้วนทุกสาขา โดยไม่ใยดีต่อความรู้สึกของคณาจารย์และบุคลากรในสังกัด ม.นครพนม
โดยเฉพาะ ว.การบินฯถูกอดีตผู้บริหารใช้อำนาจโดยมิชอบ นำเงินของ ว.การบินฯไปใช้ทางอื่น จนทำให้ระบบการเงิน ว.การบินฯมีปัญหาสะสม ดังนั้นเมื่อมีคณะบุคคลเข้ามาทุกคนจึงมีความหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ไหนได้เหมือนหนีเสือปะจระเข้กลับเจอลูกน้องอดีตผู้บริหารเสนอให้ยุบทิ้ง ว.การบินฯ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน
ข่าวน่าสนใจ:
หลังจากถูกสื่อนำเสนอข่าวออกสู่สาธารณะ คณะบุคคลก็กลับหลังหันอ้างไม่มีการยุบ แต่ต้องการปรับขนาดให้เล็กลง ทั้งที่ ว.การบินฯเป็นสถาบันที่มีนักเรียนมาฝึกบินจ่ายค่าเทอมคนละ 2 ล้านกว่าบาท มีรายได้เป็นอันดับหนึ่งของ ม.นครพนม จึงเป็นขุมทรัพย์ของผู้บริหารที่ไม่มีวิสัยทัศน์ถลุงเงินที่สะสมไว้จนหมดเกลี้ยง
“ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 64 และกำลังเข้าสู่เดือนที่ 5 บุคลากร ว.การบินฯ กว่า 80 ชีวิต ยังไม่ได้รับเงินเดือนแม้แต่คนเดียว จึงมีผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ไม่มีการชี้แจงจากผู้บริหารชุดปัจจุบัน ผมทนเห็นบุคลากรฯแบกรับภาระหนี้สิน ทั้งผ่อนงวดค่าบ้าน ค่ารถ ฯลฯ จึงตอบถามไปที่ผู้บริหาร ได้รับคำตอบว่าไม่มีเงิน แต่ไม่คิดจะหาเงินมาช่วยเหลือบุคลากร พอลับหลังก็ท้าทายว่าอยากได้เงินให้ไปฟ้องเอา พวกผมจึงไม่มีความศรัทธา ไม่มีความเชื่อมั่นผู้บริหารโดยสิ้นเชิง เราทั้ง 33คนจำเป็นพึ่งพาศาลยุติธรรม และขอความนุเคราะห์ทนาย ช่วยดำเนินการด้านกฎหมาย พวกผมเชื่อว่าศาลจะพิจารณามอบความเป็นธรรมให้กับพวกเรา” พล.อ.อ.อารมย์ ปัถวี กล่าว
กลุ่มบุคลากร ว.การบินฯ เปิดเผยต่อว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับเงินเดือนถึง 4 เดือน แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายจิปาถะจำเป็นต้องใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ขณะที่กลุ่มผู้บริหารล้วนรับเงินเดือนและค่าตอบแทนอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่บาทเดียว ไม่เคยมาใยดีต่อสภาพความเป็นของพวกตน ถึงกระนั้นบุคลากรก็ยังต้องมาลงชื่อทำงานกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกผู้บริหารใช้เป็นข้ออ้างว่าขาดงานได้ เพราะเชื่อว่าผู้บริหารต้องการบีบให้ทุกคนทนไม่ไหวแล้วยื่นใบลาออก โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากนั้นก็จะเข้าทางที่ต้องการยุบ ว.การบินฯตามแผนเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการอภิปรายงบประมาณฯของสภาผู้แทนราษฎร ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ได้กล่าวในสภาฯตอนหนึ่งว่า จะไม่มีการยุบ ว.การบินฯ และขอสัญญาจะดำเนินการทุกอย่างที่เป็นปัญหาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ รศ.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อดีตอธิการบดี ม.นครพนม ได้โพสต์ข้อความว่า “มาช้า ก็ยังดีกว่าไม่มา ฝรั่งมีคำพูดว่า ความยุติธรรมที่มาช้า คือ ความอยุติธรรม (Justice delayed is justice denied) 6 ปีที่รอคอย วันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแล้วว่า ผมถูกสั่งพักงานโยมิชอบ ว่าแต่ ตอนนี้ ม.จะมีเงินเยียวยา ตามศาลสั่ง หรือเปล่า” พร้อมกับภาพประกอบเป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ รศ.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ เป็นอดีตอธิการบดี ม.นครพนม ที่ทำให้ผู้คนทั้งในและต่างประเทศรู้จักมหาวิทยาลัยฯแห่งนี้มากที่สุด ถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูมากๆ แต่ไปขัดแข้งขัดขาอดีตนายกสภาฯ เพราะไม่ยอมทำตามใบสั่งที่กำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงถูกกลั่นแกล้งให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2557 จึงเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น มีผู้ถูกฟ้องประกอบด้วย 1.นายกสภา ม.นครพนม 2.กรรมการสภาฯ 3.มหาวิทยาลัยนครพนม และยืดเยื้อมาจนถึงศาลปกครองสูงสุด โดยพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและให้คืนสิทธิประโยชน์อันพึงจะได้แก่ผู้ร้อง ปัญหาคือ ม.นครพนม จะดำเนินการตามคำพิพากษาได้แค่ไหน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: