X

รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรนครพนม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน

นครพนม – รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรนครพนม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ที่จังหวัดนครพนม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค – กระบือ โดย ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์นครพนมที่ได้บูรณาการเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง 12 อำเภอ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนครพนมมีการตรวจพบโค – กระบือที่ป่วยติดเชื้อแล้ว 3,652 ตัว ป่วยตาย 95 ตัว รักษาหาย 1,289 ตัว โดยพื้นที่ที่มีการระบาดมากสุดคือ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอนาแก อำเภอศรีสงคราม และอำเภอนาหว้า ทั้งนี้สถานการณ์การระบาดในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มคลีคลายลงเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีมาตรการควบคุมโรค ด้วยการรักษาสัตว์ป่วย การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรค รวมถึงห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยและสัตว์ร่วมฝูง แต่อย่างไรก็ดียังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออยู่

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย ซึ่งถ้าไปติดในวัวนม นมก็จะรีดไม่ได้ และทำให้คนไม่กล้าดื่มนมในประเทศไทย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมากอีกมากมาย โดยหน้าสถานการณ์ในปัจจุบันสะเทือนต่อโคเนื้อเหมือนกัน เพราะทำให้คนเลิกบริโภคเนื้อวัวไป เนื่องจากมีการเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งจริง ๆ แล้ว โรคนี้เป็นเพียงโรคผิวหนังที่ไม่มีการถ่ายเชื้อไปถึงเนื้อสัตว์ได้ นั่นหมายความว่า เนื้อวัวยังสามารถรับประทานได้ตามปกติ และในช่วงนี้ที่มีการระบาดของโรคทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ถึงแม้ตัวเองจะไม่ได้รับผิดชอบกรมปศุสัตว์ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีการรวมกันเป็นหนึ่งอยู่แล้ว อะไรที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ ก็พยายามไปช่วยเหลือและให้กำลังใจทุกคนร่วมกัน เพราะทราบดีว่าการเลี้ยงวัวของเกษตรกรแม้จะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์แต่ทุกคนก็มีความรักความผูกพัน ทั้งมีความคาดหวังในเรื่องของรายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งถ้าปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเกษตรกร

โดยอยากฝากไปยังเกษตรกรที่เลี้ยงโค – กระบือว่า บ้านไหนที่มีโค – กระบือ ป่วยหรือตายก็ขอให้แจ้งปศุสัตว์ในท้องที่นั้นๆ พร้อมกับถ่ายรูปทำทะเบียนประวัติเอาไว้ เนื่องจากรัฐบาลจะมีเงินมาเยียวยาช่วยเหลือในส่วนนี้ ดีกว่าเราไม่ได้อะไรเลย โดยจากการประชุมร่วมกันทางกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนเข้ามาดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้ว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะมีการเปิดให้เอกชนนำวัคซีนเข้ามาได้เช่นเดียวกันเพราะจะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยในวันนี้จังหวัดนครพนมได้รับการจัดสรรวัคซีนมาแล้ว 2,000 โดส เพื่อฉีดให้กับโค – กระบือและในอนาคตก็จะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมมาอีก ในส่วนของการรักษาก็จะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาตามเนื้อตามตัวของโค – กระบือ ซึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 10 วันแผลเป็นจะเริ่มร่วง จากนั้นขนก็จะขึ้นได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีปัญหากลับสัตว์ตัวเล็ก ๆ อยู่ ในส่วนของแมลงที่เป็นพาหะนำโรคก็ต้องมีการพ่นยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกัน ซึ่งในวันนี้ก็มีการปล่อยขบวนรถเพื่อออกพ่นยาให้ท้องถิ่นท้องที่เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ให้หมดไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน