นครพนม – ลูกฮวกอีสานโกอินเตอร์ แปรรูปแช่แข็งแพ็คส่งขายเมืองนอก ออสเตรเลียสั่งนำเข้าเปิบ โกยเดือนละหลายล้าน
วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครพนมรายงาน ว่า ในช่วงสสถานการณ์โรคโควิดระบาดระลอก 3 ทำให้หลากหลายอาชีพได้รับผลกระทบ ตัวเลขทางเศรษฐกิจการค้า โรงงานหลายแห่งเลิกจ้าง มีประชาชนจำนวนไม่น้อยตกงานเป็นทิวแถว ไม่เว้นแม้แต่ผลผลิตการเกษตรมีราคาตกต่ำ
ขณะที่ชาวบ้านหนองแต้หมู่ 7 ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม เกือบ 200 ครัวเรือน ที่มีอาชีพทำนากบขายลูกอ๊อดหรือภาษาอีสานเรียกว่าลูกฮวกมานานหลายปี โดยจะจับขายในช่วงฤดูแล้งก่อนถึงฤดูฝนทำนาปี ในปีที่ผ่านมาเจอพิษโควิดระบาด ปีที่ผ่านมาจึงมีปัญหาด้านการตลาดจับขายไม่ทัน ทำให้ขาดทุนป่นปี้ เพราะมีห้วงเวลาขายประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น จึงเกิดแนวคิดใหม่หันมาพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เนื่องจากปกติจะทำนากบ และส่งขายเฉพาะลูกฮวกตัวสดๆทั่วภาคอีสาน โดยชาวอีสานนิยมนำไปปรุงเมนูเด็ด เช่น แกงอ่อม ต้ม ห่อหมก และอีกหลากหลายเมนู เคยสร้างรายได้รวมแล้วปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จนกระทั่งมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปลูกอ๊อดและกบแช่แข็งส่งขายแทนการขายแบบสดเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถขายได้ตลอดทั้งปี และเพิ่มช่องทางการตลาด จนประสบความสำเร็จสามารถขายลูกอ๊อดรวมถึงกบแช่แข็ง ได้ตลอดปี อีกทั้งยังทำการตลาดออนไลน์ส่งขายถึงต่างประเทศ สร้างรายได้เดือนละนับล้านบาท จึงมีเงินหมุนเวียนสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
นายสนธยา ฝาละมี อายุ 45 ปี เลขานุการวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อดบ้านหนองแต้และกบแช่แข็ง ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า เดิมทีเกษตรกรชาวบ้านหนองแต้แห่งนี้มีอาชีพทำนากบ โดยจะทำกันในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี มานานหลายปี และมีชาวบ้านเกือบ 200 ครัวเรือนที่ยึดอาชีพทำนากบขาย โดยจะเลี้ยงช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน โดยจะใช้พื้นที่นาแปลงสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกบ ซึ่งจะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไว้อายุประมาณ 1 ปี เมื่อถึงช่วงฤดูเลี้ยงจะนำมาปล่อยลงบ่อที่เป็นพื้นที่นา ซึ่งจำนวนตามความเหมาะสมของพื้นที่ ใช้เวลา 1 คืนเพื่อให้กบอายุ 1 ปีที่พร้อมผสมพันธุ์วางไข่ จากนั้นก็จับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกจากบ่อ และดูแลเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดให้โตจนนำออกขายได้
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
ส่วนอาหารจะใช้หัวอาหารที่เลี้ยงปลาดุก ใช้ระยะเวลาประมาณ 20 -25 วัน ตัวลูกอ๊อดจะโตเต็มที่พอขาย เดิมมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อจากทั่วอีสาน กิโลกรัมละประมาณ 80 -100 บาท โดยจะบรรจุใส่ถุงละประมาณ 1 กิโลกรัม อัดออกซิเจนเพื่อส่งขายไปยังตลาดได้ประมาณ 7–8 ชั่วโมง เนื่องจากส่วนใหญ่จะนำไปขายแบบสดๆ แต่ปีที่ผ่านมาเดือดร้อนหนักจากวิกฤตโควิดระบาด พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อลดจำนวนลง จึงหาทางแก้ปัญหาด้านการตลาด เพื่อส่งขายไม่ให้เกิดภาวะขาดทุน
นายสนธยาเปิดเผยอีกว่า ได้หันมารวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อดและกบ เพื่อแปรรูปทำการตลาดรูปแบบใหม่ คือ การนำลูกอ๊อดขายทั้งตัวสด และแปรรูปนำเครื่องในออก ก่อนไปบรรจุซีลด้วยถุงสูญญากาศแช่แข็ง ราคาลูกอ๊อดขายในกิโลกรัมละ 220 บาท นอกจากนี้ยังมีกบตัวใหญ่อายุประมาณ 2 -3 เดือน ชำแหละแช่แข็งขาย กิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งกบจะซื้อต่อจากเกษตรกรประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท นอกจากนี้ได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ส่งขายทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ ไม่นานก็กลายเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากขึ้น และสามารถขายได้ตลอดปี จึงได้รับซื้อจากเกษตรกรที่เลี้ยงทั้งลูกอ๊อดและกบตัวใหญ่มาแปรรูปแช่แข็งส่งขาย จากที่เคยขายได้เฉพาะช่วงประมาณ 2 -3 เดือน เพราะหากลูกกบโตเกินขนาดจะขายยากและแบกต้นทุน จึงหันมาใช้วิธีการแช่แข็งส่งขาย สามารถเก็บไว้ได้นาน 9 -10 เดือน ทำให้สามารถขายได้ตลอดปีจนถึงวงรอบปีฤดูกาลผลิตพอดี
นอกจากนี้ล่าสุดยังมีออเดอร์ตลาดจากเมืองนอกคือประเทศออสเตรเลีย สั่งนำเข้าไปบริโภคกันในประเทศ และเมื่อผลิตภัณฑ์ลูกอ๊อดแช่แข็งส่งถึงเมืองนอก จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 2,000 บาท เพราะต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปด้วย โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อส่งออกอีกที
หลังจากการแปรรูปลูกอ๊อดและกบแช่แข็งทำตลาดได้ดี ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีงานทำเพิ่มขึ้น เช่น การชำแหละไส้ลูกอ๊อดก่อนบรรจุแช่แข็งรวมถึงกบ สร้างรายได้ในชุมชนวันละ 400 -500 บาท/คน ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานต่างถิ่น ที่สำคัญในช่วงนี้เกษตรกรที่ทำนากบก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น บางรายมีเนื้อที่เยอะเลี้ยงจำนานมาก ก็สร้างรายได้ปีละประมาณ 5 แสนถึงล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 -4 เดือนก็คว้าเงินแสนเงินล้าน เมื่อพอหมดฤดูทำนากบสามารถทำการเกษตรทำนาปีตามฤดูกาลได้ตามปกติ คาดว่าปีนี้จะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนสะพัดในหมู่บ้านปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยไม่กังวลอะไรถึงแม้จะเจอสถานการณ์โควิด สนใจสอบถามสั่งซื้อ 089-5716610
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: