นครพนม – “สกู๊ป” ชาวนานครพนมยึดวัฒนธรรม “ลงแขกดำนา” พึ่งพาอาศัยระหว่างกัน ถือมั่นประเพณียาวนานกว่า 40 ปี
“การลงแขก”เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด คนไทยในสมัยนี้รู้จักคำว่า “ลงแขก” ในความหมายที่เป็นการกระทำผิดอาญา แต่สำหรับคนอีสานแล้ว การลงแขกมีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว
ประเพณีเอามื้อเอาแรงนี้จึงเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคี ทำให้งานเสร็จอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยการว่าจ้าง และยังถือเป็นโอกาสที่ทำให้หนุ่มสาวได้รู้จักอุปนิสัยใจคอและพบรักกันได้อีก ด้วยเนื่องจากชีวิตของเกษตรกรไทยเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา ทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว
ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ณ จุดนี่เองที่ก่อให้เกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงข้าวปลาอาหารตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน
ข่าวน่าสนใจ:
เมื่อเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาสู่ชุมชนพร้อมกับการส่งเสริมให้มีการ ปลูกเพื่อขาย ยุคเศรษฐกิจเงินตราเป็นใหญ่จึงทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอดีต กลายมาเป็นการว่าจ้างแรงงานแทน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่าง การลงแขก จึงพลอยสูญหายไปด้วย และยิ่งมาถึงยุคสมัยที่ลูกหลานวัยรุ่น หนุ่ม-สาวของเราหนีความแห้งแล้งไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ การทำไร่ไถนาของบรรพบุรุษก็ยิ่งขาดแคลนแรงงานหนัก ก็ได้อาศัยเงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้มาจ้างแรงงานในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้การลงแขกถูกลืมเลือนเด็ดขาดไปเลย เพราะการช่วยงานต้องมีค่าจ้างตอบแทน เลี้ยงข้าวปลาอาหารอีก นี่จึงต้องมีการฟื้นฟูและกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การลงแขก ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
เฉกเช่นในพื้นที่จังหวัดนครพนม ช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกลงมาทำให้เกษตรกรเริ่มลงนาปักกล้าดำกันแล้ว ณ บ้านโพนงาม ต.นาทราย อ.เมืองนครพนม มีภาพเกษตรกรช่วยกันถอนกล้า ดำนา ในช่วงหน้าฝนตามปกติของฤดูทำนา แต่ที่พิเศษและต่างจากที่อื่น ๆ คือ ชาวบ้านที่นี่ที่มากันหลาย ๆ คนช่วยกันถอนกล้า ดำนา ไม่ได้ถูกว่าจ้างมา แต่เป็นการลงแรงช่วยกันแทนค่าจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมากว่า 40 ปี ของคนที่นี่
นางสาววิชุดา ขุนศรี อายุ 45 ปี ชาวบ้านบ้านโพนงาม ซึ่งเป็นเจ้าของที่นาบอกว่า เมื่อถึงฤดูทำนาคนในหมู่บ้านเกือบ 80 % จะออกไปช่วยกันลงแรง ไม่ว่าจะเป็น ไถนา ถอนกล้า ดำนา ช่วยกันจนเสร็จ โดยไม่คิดค่าจ้างใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเสร็จจากนาของเจ้านี้ ก็จะต้องออกไปช่วยอีกคน พูดง่าย ๆ ก็คือ “คุณมาช่วยเรา เราก็จะไปช่วยคุณ” เป็นการทำประกันกันด้วยแรงงาน ซึ่งทำแบบนี้มานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่บรรพบุรุษ
โดยชาวบ้านที่นี่เขายังอนุรักษ์วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้ทำแบบดั้งเดิมทุกกระบวนการ อาจมีบ้างที่ใช้รถไถนาเดินตามแทนการใช้ควายไถนา แต่ชาวบ้านยังคงใช้วิธีการดำนาแทนการทำนาแบบหว่าน ซึ่งชาวบ้านบอกว่าวิธีการดำแบบนี้จะช่วยให้ผลผลิตของข้าวได้มากกว่าการหว่าน กอใหญ่ ลำต้นสวย เมล็ดข้าวเต็มได้น้ำหนักดี และหญ้าหรือวัชพืชจะเกิดขึ้นน้อยกว่าวิธีการหว่าน ซึ่งนอกจากการลงแรงช่วยกันทำนา ชาวบ้านที่นี่เขายังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน หากที่นาของใครเกิดน้ำท่วม ข้าวไม่ได้ผลผลิต คนที่ได้ผลผลิตเยอะก็จะนำข้าวไปให้เพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย เรียกว่าเป็นการแบ่งปันความห่วงใยซึ่งกันและคนของคนในหมู่บ้าน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: