นครพนม – เกษตรนครพนมถ่ายทอดความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีตามมาตรฐานของกรมการข้าวให้กับศูนย์ข้าวชุมชนต่างๆ ในกระบวนการผลิตตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม ณ ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม
โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 3 รุ่นๆละ 40 ราย ซึ่งในครั้งนี้มีเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วม จำนวน 120 ราย เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปทำการพัฒนาและยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ในการเพิ่มผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- กกพ.สร้างเครือข่ายให้ความรู้ กับผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พลังงาน
- หนุ่มใหญ่วัย 59 ถูกฆ่าหลังเมรุ ขณะนำวัวไปเลี้ยงในป่า คนเกี่ยวข้าวได้ยินเสียงทะเลาะ ก่อนพบเป็นศพ
- รวบแล้ว ไอ้โชค มือฆ่าคนเลี้ยงวัววัย 59 ฉุนมาขุดจิ้งหรีดในสวนที่เช่าไว้ ก่อนหนีไปซ่อนในบ่อขยะ
- สหายแสง และพวก แห่จองกฐิน ทนายตั้มฟ้องหมิ่นฯ เรียกค่าเสียหาย 30 ล้าน ยันจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
ด้านนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี จะทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดต้นทุนการผลิต เพราะผ่านการคัดเลือกรวงที่สมบูรณ์แล้ว จึงลดเชื้อโรคและการใช้สารเคมีกำจัดโรค ผลผลิตสูง และทำให้กำไรต่อพื้นที่มากกว่า เกษตรกรต้องเข้าใจ “ชั้นเมล็ดพันธุ์” เพื่อรู้ที่มาและการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งชั้นเมล็ดพันธุ์ประกอบด้วย 1. เมล็ดพันธุ์คัด (breeder seed) เป็นชั้นเมล็ดพันธุ์สำหรับนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งชาวนาสามารถเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ได้ โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งใช้ “แกระ” เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวที่สามารถคัดเลือกรวงสมบูรณ์ ถูกต้องตามพันธุ์ 2. เมล็ดพันธุ์หลัก (foundation seed) หลังจากคัดเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการแล้ว ได้เป็นเมล็ดพันธุ์หลักสำหรับปลูกขยาย 3. เมล็ดพันธุ์ขยาย (stock seed or registered seed) เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลัก สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกเป็นแปลงขยายพันธุ์ และ 4. เมล็ดพันธุ์จำหน่าย (certified seed) เป็นชั้นเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป
การยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรมีหรือซื้อมานั้น ส่วนมากจะเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นขยายหรือชั้นจำหน่าย อาจมีคุณภาพไม่ดีพอ จึงจำเป็นต้องนำเมล็ดพันธุ์นั้นมาปรับปรุงและเก็บเมล็ดพันธุ์ต่อด้วยการปลูกแบบปักดำกล้าต้นเดียว และดูแลด้วยการตัดพันธุ์ปนตามระยะการเจริญเติบโต จะได้เมล็ดพันธุ์ชั้นขยายที่ดีกว่าเดิม การเพาะกล้าแบบวางรวงและปักดำแบบรวงต่อแถว โดยปักดำกล้าต้นเดียวร่วมกับการตรวจตัดพันธุ์ปนอย่างสม่ำเสมอทั้ง 5 ระยะ และปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ (ทำความสะอาดและลดความชื้น) สามารถยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำเมล็ดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเลือกรวงที่สวย แข็งแรง มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ แล้วเก็บรวง 1,000 รวง ทำเป็นมัดๆ ละ 100 รวง นำไปเพาะกล้าแบบวางรวงและปักดำแบบรวงต่อแถว โดยปักดำ กล้าต้นเดียว ดูแลด้วยการตัดพันธุ์ปนจำนวน 5 ครั้ง ตามระยะการเจริญเติบโต เก็บเกี่ยวเป็นรวง จะได้เมล็ดพันธุ์หลัก“ตัดพันธุ์ปน” หัวใจการผลิตเมล็ดพันธุ์
การผลิตเมล็ดพันธุ์คัดซึ่งเป็นชั้นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญสำหรับการได้ “เมล็ดพันธุ์ที่ดี” หัวใจสำคัญที่เกษตรกรต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือ การตัดพันธุ์ปนใน 5 ระยะ โดยพิจารณาจากลักษณะสำคัญเพื่อจำแนกพันธุ์ ได้แก่ ระยะกล้า ความแตกต่างของสีใบ ความสูง หรือเป็นโรค ระยะแตกกอ ความสูง สีของต้น ข้าวแดง ระยะออกดอก สีของรวง ความสูง ทรงกอ ระยะโน้มรวง สีของเมล็ด หาง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าว ระยะก่อนเก็บเกี่ยว (สุกแก่) สีของเมล็ด หาง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าว
สำหรับกิจกรรมในวันนี้นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีและได้มาตรฐานแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้การผลิตสารชีวภัณฑ์ที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีให้ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งฝึกปฏิบัติการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวเบื้องต้น และมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จากระบบตรวจสอบ GAP seed ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิต และผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพการผลิตที่เป็นมาตรฐานและปลอดภัยในระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนได้ในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: