นครพนม – เกษตรกรศรีสงคราม ผันตัวจากข้าราชการสู่การทำเกษตรแบบปลูกป่า “บนภูเขา” ยึดหลักพอเพียงและพึ่งพาตนเอง สร้างแหล่งอาหารและรายได้ให้ครอบครัวอย่างมั่นคง
หากพูดถึงการทำการเกษตรสำหรับใครหลายๆคนคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือยากจนเกินไป เพราะเป็นสิ่งที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก จะต้องทำอย่างไรให้การทำเกษตรประสบความสำเร็จนั้นก็สำคัญ บางคนอาจจะคิดว่าการทำงานรับราชการนั้นมีความมั่นคงชีวิตสูงและเป็นอาชีพที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน แต่คงไม่ใช่สำหรับนายยงยุทธ วงค์โสภา อดีตข้าราชการทหาร และนางสวาด วงค์โสภา ที่มองว่าความมั่นคงในชีวิตและความสุขที่แท้จริงคือการได้ทำเกษตรอย่างพอเพียงและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดต่างหากที่ทำให้เขาและครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองรัก
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
นายยงยุทธ วงค์โสภา กล่าวว่า ก่อนที่ตนเองจะผันชีวิตมาเป็นเกษตรกรและทำการเกษตรแบบเต็มตัวอย่างในปัจจุบัน เนื่องจากมีใจรักและเห็นการทะเกษตรมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อมีโอกาสในการเข้าไปรับราชการทหารก็คิดอยู่เสมอว่าตนเองจะใช้ชีวิตไปจนถึงระยะเวลาเกษียณอายุราชการเพื่อเป้าหมายอะไรกันแน่ ในระหว่างที่กำลังหาคำตอบให้กับตนเอง ก็ได้เดินทางไปกลับบ้านจากที่ทำงานในทุกสัปดาห์ระหว่างร้อยเอ็ด-นครพนม ซึ่งมีระยะทางที่ไกล แต่ด้วยความตั้งใจว่าสักวันหนึ่งตนเองจะกลับมาเริ่มต้นทำการเกษตรบนพื้นที่ของตนเอง ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ สป.ป.ก. ที่รัฐจัดสรรให้ทำกิน และเมื่อคิดและตั้งใจแล้วว่าจะต้องทำการเกษตรที่ตนเองอยากจะทำจึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ และเดินทางกลับบ้านมาทำการเกษตรกับภรรยาที่บ้านปฏิรูป ตำบลศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม โดยเริ่มจากการปลูกพืชหลากหลายชนิด ลองผิดลองถูกกับการทำการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งด้านปศุสัตว์ ประมง และพืช และพบว่าด้านปศุสัตว์ มีต้นทุนการผลิตที่สูงและเกิดการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพราะผลผลิตมีปริมาณมาก หรือเมื่อเราต้องการจำหน่ายผลผลิตก็จะมีราคาที่ถูก ซึ่งหากเกษตรกรชะลอการจำหน่ายผลผลิตออกไปเพื่อรอให้ราคาตลาดขยับขึ้น จะทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จากการที่ตนเองเดินทางไปกลับบ้านอยู่เป็นประจำและเส้นทางที่เดินทางผ่านภูเขา จึงสังเกตเห็นว่าต้นไม้บนภูเขาทำไมถึงเจริญเติบโตได้ดีตลอดทั้งปี จึงนำเอาประสบการณ์ที่พบเห็นมาปรับใช้ ในหลักของ “ภูเขา” คือ “ต้นไม้ในป่าบนภูเขาที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี สมบูรณ์ในสภาพธรรมชาติและสามารถให้ผลผลิตได้ โดยการอยู่ร่วมกันหลากหลายชนิด ที่เป็นลักษณะของของการเกื้อกูลกัน” ซึ่งหลักที่สำคัญ คือ ต้นไม้ในภูเขาที่มีการเจริญเติบโตที่ดี และการนำใบไม้ที่ร่วงร่นในพื้นที่มากองหมักไว้ และรอให้ย่อยสลายโดยธรรมชาติ จากนั้นก็นำพืชที่ต้องการมาปลูก ทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดี รวมไปถึงการปลูกพืชในระยะชิดที่จะช่วยให้พื้นที่เกิดความชุ่มชื้นและเกิดการแข่งขันของต้นพืชตามธรรมชาติ ทำให้การทำการเกษตรของตนเองเป็นเรื่องที่ง่ายและใช้หลักของธรรมชาติในการบริหารจัดการเอง
ด้านนางสวาด วงค์โสภา กล่าวว่า จากที่เริ่มต้นการทำการเกษตรในรูปแบบของการปลูกป่าบนภูเขาที่ผ่านมา ทำให้เริ่มมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นในการทำการเกษตรในรูปแบบนี้ซึ่งเป็นการผสมผสานที่ลงตัว และเกิดความสมดุลของธรรมชาติ ทำให้ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีต่างๆ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดรายจ่ายได้มากขึ้น ปัจจุบันที่สวนมีการปลูกพืชที่หลากหลายในรูปแบบผสมผสาน เช่น ปลูกกล้วยมากกว่า 20 สายพันธุ์ มีการจำหน่ายหน่อกล้วย และผลผลิตกล้วย ไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน เงาะ นอกจากนี้ยังมีการนำถ่านไม้ มาใช้รองก้นหลุมก่อนพืชพืชและใส่รอบๆโคนต้นพืช เพื่อช่วยกักเก็บธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชและเป็นแหล่งที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน และยังมีการนำเทคนิคในการฝังท่อพีวีซี กับต้นไม้ผลที่ปลูก เพื่อช่วยระบายอากาศในดินและให้น้ำถึงจุดระดับที่รากพืชที่พืชต้องการนำไปใช้ได้ทันที
ทุกวันนี้ผลผลิตที่ออกมาไปจำหน่ายที่ตลาดในชุมชน ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดีและมีปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ถึงแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด – 19 ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะการจำหน่ายผลผลิตยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติและนำผลผลิตที่มาประกอบอาหารได้ ทำให้ไม่ได้รับความเดือดร้อนและมีความสุขกับความเป็นอยู่ทุกวันที่ ตนเองมองว่า รู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่ทุกวันนี้ทำการเกษตรจนสามารถส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี และมีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี จากการจำหน่ายผลผลิตทุกอย่างภายในสวน ทำให้การทำการเกษตรที่ตนเองต้องการประสบความสำเร็จ จนทุกวันนี้ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรอำเภอศรีสงคราม ให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) ตำบลศรีสงคราม ที่เป็นจุดเรียนรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกร และยังเป็น แปลงต้นแบบการนำระบบส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนในพื้นที่ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม นับว่าเป็นความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรมากสำหรับตนเองและครอบครัว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: