นครพนม – หมอสงค์นำคณะกรรมาธิการฯงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร รับฟังปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้าน หลังนายทุนฮุบที่ดินสาธารณะ”ดอนหมากกะทัน”เป็นของตนเอง
ณ ศาลาท้ายวัดท่าบ้านหนองจันทร์ หมู่ที่ 13 ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย/ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่ดอนหมากกะทัน ซึ่งเป็นที่ดินงอกจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำโขง จนกลายเป็นแผ่นดินใหญ่กว่า 800 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 1,2,13 และหมู่ 14 ต.ท่าค้อ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ถูกนายทุนร่วมมือกับทนายความคนหนึ่งหวังฮุบที่ดินส่วนหนึ่งประมาณ 400 ไร่ โดยอ้างว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนี้
โดยมี นายนพดล จอมเพชร นายอำเภอเมืองนครพนม นายประชุมศิลป์ พิทักษ์ ปลัดอำเภอฯ นายจารุวัฒน์ วงษ์แสน หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการที่ดินจังหวัดนครพนม ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม นายไชยวุฒิ วัชเรนทร์สุนทร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนม ผู้แทนกรมเจ้าท่าฯ,โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนม นายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ ทนายความ ร่วมรับฟังปัญหาจากผู้แทนชาวบ้าน ซึ่งมีนายประพันธ์ จุลโท อายุ 70 ปี อดีตกำนันตำบลท่าค้อ และ นายนิพนธ์ ไชยนิยม อายุ 78 ปี อดีตกรรมการหมู่ที่ 13 บ้านหนองจันทร์ รอให้รายละเอียดพร้อมเอกสารคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.61-62/2564 เป็นหลักฐาน
ข่าวน่าสนใจ:
- ‘นครพนม’ เดินหน้าขับเคลื่อน ‘นครพนมโมเดล’ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้ประชาชนมีความสุขที่สุด
- การข่าวทหารพราน 2103 เจ๋ง รวบตัวสาวใหญ่ เดินสายส่งยาบ้าพร้อมของกลาง
- สมาคมพ่อค้านครพนม จัดงานสมโภช ‘เจ้าพ่อหมื่น’ ปี 2567 เสริมสิริมงคล
- นบ.ยส.24 โดย ร้อย.ฉก.ทพ.2101 โชว์ฝีมือจับผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 12,000 เม็ด
นายประพันธ์เปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการฯว่า ที่ดินดอนหมากกะทันที่มีเรื่องพิพาทกับนายทุนนี้นั้น หากพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศระหว่างปี 2496-2516 หรือ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหาดทราย มีปรากฎเป็นแนวร่องน้ำธรรมชาติกั้นกลางระหว่างแนวชายฝั่ง มีลักษณะแยกพื้นที่หาดทรายที่อยู่ในส่วนของแม่น้ำโขงและแผ่นดินใหญ่ริมตลิ่ง ภายหลังบริเวณที่เป็นหาดทรายได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นสันทรายที่เกิดจากการไหลของน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงนำพาตะกอนดินทรายมาสะสมและทับถมจนหาดทรายเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นพื้นที่กว้างตลอดแนวแม่น้ำโขงเกือบ 1 พันไร่
นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ช่วงปี 2496-2516 บริเวณหาดทรายดังกล่าวเมื่อครั้งยังเป็นร่องน้ำอยู่นั้น ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาช้านาน โดยใช้เป็นทางสัญจรทางน้ำเพื่อข้ามฟากไปยังอีกฝั่งที่ใช้เป็นที่พาสัตว์เลี้ยงลงไปกินน้ำ หรือนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
ต่อมาปี 2516-2558 หลังหาดทรายกับแผ่นดินริมตลิ่งจรดติดกัน ร่องน้ำที่ใช้สัญจรหายไปทับถมกลายเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ชาวบ้านจึงได้เข้าทำการเกษตรเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ยาสูบ ข้าวโพด มะเขือเทศ ฯลฯ และทุ่งเลี้ยงสัตว์ แต่มีชาวบ้านบางคนคิดว่าการที่ตนเองเข้าจับจองครอบครองพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นสมบัติส่วนตน จึงได้นำไปขายให้กับนายทุนโดยไม่มีเอกสารสิทธิและไม่มีหลักฐานการซื้อขายใดๆ กระทั่งนายทุนผู้นั้นเสียชีวิตทายาทก็อ้างสิทธิในการครอบครองตลอดมา โดยมีการเก็บค่าเช่าจากเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชไร่บนที่ดินดอนหมากกะทัน ในราคาไร่ละ 6,000 บาท ทั้งนี้กลุ่มนายทุนห้ามชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปทำการเกษตรใดๆ โดยมีทนายความคนหนึ่งคอยเป็นกุนซือทางกฎหมายให้คำแนะนำตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพาศาลยุติธรรมเรียกคืนพื้นที่ดอนหมากกะทันมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน
โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ตามหลักฐานแล้ว จึงพิพากษาให้ที่ดินดอนหมากกะทันเป็นสมบัติสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ชักช้า แต่กลุ่มนายทุนยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่ไม่มีเอกสารใดแสดงต่อศาลแม้แต่แผ่นเดียว เมื่อคณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงขอให้นำเรื่องพิพาทดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราดำเนินการกับกลุ่มผู้บุกรุกหวังฮุบสมบัติแผ่นดินไปเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 บัญญัติว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ฯลฯ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแล รักษา และคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ.2553 ข้อ 5 กำหนดว่าที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในบังคับของระเบียบนี้ หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติ โดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรมหรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ท่าป่าช้า ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประจำตำบลหรือหมู่บ้าน เป็นต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: