X

พบอาชีพเสี่ยงตายแลกเงิน ล้วงรังต่อหัวเสือขายสายเปิบพิสดาร

นครพนม – พบอาชีพเสี่ยงตายแลกเงิน ล้วงรังต่อหัวเสือขายสายเปิบพิสดาร อดีตนายก อบต.พิมาน เจ้าของโปรเจ็กท์คิดสร้างรายได้และเน้นอนุรักษ์ ชวนชาวบ้านโกยเงินช่วงวิกฤตโควิด

วันที่ 13  ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้เกษตรกรชาวจังหวัดนครพนมในหลายๆพื้นที่ได้รับผลกระทบ ขาดรายได้จากการประกอบสัมมาอาชีพ จึงหันไปพึ่งพาอาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอันเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวท้องถิ่น และดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้กลับมาจุนเจือครอบครัว

เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม นำโดย นายบัญชา ศรีชาหลวง อดีตนายก อบต.พิมาน ได้นำชาวบ้านส่วนหนึ่ง หันมาสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านอาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก็ตาม โดยพากันออกไปล่ารังต่อหัวเสือ ที่มีอยู่มากตามป่าดงดิบด้วยความชำนาญแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้าน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม  ในป่าธรรมชาติจะมีรังต่อหัวเสือทำรังอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะนำออกจากป่ามาเลี้ยงไว้ตามหัวไร่ปลายนา โดยใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 3 -4 เดือน และรังต่อหัวเสือจะโตตามธรรมชาติ  จากนั้นจะเก็บผลผลิตมาขาย และปรุงเป็นเมนูเด็ด เนื่องจากต่อหัวเสือถือว่าเป็นเมนูหายาก ใน 1 ปี มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะนักเปิบพิสดาร มักนำลูกต่อหัวเสือไปปรุงเป็นเมนูเด็ดของแซ่บอีสาน และสารพัดเมนู  เช่น นึ่ง ยำ แกง คั่ว ห่อหมก ตามความชอบของแต่ละคน โดยมีราคาสูงประมาณกิโลกรัมละ 1,000 บาท  หรือมีการซื้อขายตกลงราคากันรังละ 1,000 -1,500 บาท เป็นต้น

นายบัญชา ศรีชาหลวง อดีตนายก อบต.พิมาน เปิดเผยว่าในการเลี้ยงต่อหัวเสือมีหลายหมู่บ้านในพื้นที่ของจังหวัดนครพนม แต่จะมีการเลี้ยงกันมากที่สุดอยู่ 2 อำเภอ คือ 1.นาแก และ 2.ปลาปาก ตนจึงนำชาวบ้านบางส่วนที่สนใจเลี้ยงต่อหัวเสือ เพื่อเป็นการนำร่องเป็นศูนย์เรียนรู้อาชีพเลี้ยงต่อหัวเสือ เพื่อสร้างรายได้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้ผู้เลี้ยงเข้าใจในวิธีการดูแลที่ปลอดภัย เพราะต่อหัวเสือถือว่าอันตรายมีพิษร้ายแรง หากถูกต่อยอาจอันตรายถึงชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเมนูเด็ดที่ตลาดมีความต้องการสูง

สำคัญที่สุดในการเลี้ยงต่อหัวเสือ เดิมจะใช้วิธีการเผาเอารังต่อในช่วงเก็บเกี่ยว แต่ตนได้ออกแนวคิดในเชิงอนุรักษ์ ลดปัญหาการสูญพันธุ์ของตัวต่อหัวเสือ จึงได้สั่งตัดเย็บชุดนิรภัยทำจากผ้าใบที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูงมาให้ชาวบ้านสวมใส่ นำไปล้วงรังต่อ เก็บเกี่ยวผลผลผิตแทนการใช้ไฟเผา และเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ต่อหัวเสือ และสามารถเก็บผลผลิตได้เพิ่มจากรังละเพียง 1 ครั้ง/ปี เป็น 2 -3 ครั้ง/ปี  เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้มากขึ้นเพราะมีราคาสูง ลูกต่อที่นำไปปรุงเป็นอาหาร ตกกิโลกรัมละประมาณ 1,000 บาท ยิ่งช่วงออกพรรษาที่เก็บเกี่ยวผลผลิต ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาด บางรายสร้างรายได้ช่วงวิกฤตโควิดเดือนละ 20,000 – 30,000 บาท อีกทั้งมีพ่อค้ามารับซื้อนำไปขายต่ออีกทอด หรือปรุงเป็นเมนูสารพัดสุดแซบเมนูเด็ดอีสานขายให้ลูกค้า โดยจะมีการส่งเสริมต่อยอดขยายให้ความรู้ชาวบ้านเลี้ยงมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้อีกทาง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน