นครพนม – รำบูชาพระธาตุพนมประเพณีบุญเดือน 11 เทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟนครพนม 64 อลังการสวยงามอ่อนช้อย
วันที่ 21 ตุลาคม 2564 บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ ประธานฝ่ายสงฆ์ และ นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน ได้ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา และการรำบูชาพระธาตุพนมซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของวันออกพรรษาทุกปีจากเหล่านางรำ 8 ชนเผ่ารวม 12 อำเภอ โดยปกติจะมีนางรำไม่น้อยกว่า 1,000 คนร่วมรำบูชา แต่ปีนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด จึงจำกัดจำนวนนางรำไม่เกิน 200 คน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม
โดยนายชาธิป รุจนเสรี ผวจ.ฯ ประธานฯ พร้อมด้วย นายอำเภอธาตุพนม ข้าราชการทุกภาคส่วน ตลอดจนพ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ไปตั้งขบวนแห่บริเวณประตูโขงแล้วเดินเข้าสู่บริเวณ มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นผู้ว่าฯถวายเครื่องสักการบูชา กล่าวนำไหว้พระธาตุ ประกอบพิธีทางศาสนาพร้อมกล่าวเปิดงาน และเริ่มการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม โดยมีทั้งหมด 6 ชุดการแสดง คือ 1.ฟ้อนตำนานพระธาตุพนม เป็นนางรำจาก อ.ธาตุพนม ที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญ ในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนม หรือบุญเดือน 3 โดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนม ทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรี ที่กล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนม ซึ่งการฟ้อนชุดนี้แสดงครั้งแรกในงานสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2522 จึงถือเป็นเอกลักษณ์ใช้ฟ้อนเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมจนถึงปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ.2530 ก็ได้นำมารำบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม
2.ฟ้อนศรีโคตรบูร เป็นนางรำจาก อ.ปลาปาก อ.ศรีสงคราม ซึ่งด้วยจังหวัดนครพนมเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตบูร ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ครอบคลุมอาณาบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณแขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาวในปัจจุบัน อาณาจักรศรีโคตบูรเป็นดินแดนแห่งการสั่งสมวัฒนธรรมอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชุดฟ้อนรำนี้ต่อมาได้ปรับปรุงให้เป็นชุดรำประจำจังหวัดนครพนม เพื่อให้ระลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต โดยเป็นการผสมผสานระหว่างรำเซิ้งอีสาน ที่มีความสนุกสนาน ผสมกับการฟ้อนภูไทที่มีความอ่อนช้อย สวยงาม ในลักษณะท่าฟ้อนตามแบบฉบับของชาวอีสาน คือ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง มีความกลมกลืนระหว่างท่าฟ้อนกับดนตรีพื้นเมืองอีสาน ที่มีเสียงไพเราะและสมบูรณ์ยิ่ง
ข่าวน่าสนใจ:
- จ.นครพนม บูรณาการร่วมปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลลอยกระทง 2567
- คิดจะค้ายาฯ ขอให้..คิดถึงคุก!!
- นบ.ยส.24 บูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.นครพนม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือตรวจพื้นที่อาคารหลังศูนย์ฟื้นฟู…
- กล้องวงจรปิดจับภาพ แม่รับลูกซ้อน 4 กลับจากโรงเรียน ชนรถ พ่วงบาดเจ็บสาหัส ลูกร้องระงม
3.รำผู้ไทย หรือภูไท จากนางรำชาว อ.เรณูนคร อ.บ้านแพง พัฒนาและดัดแปลงมาจากศิลปะการฟ้อน ที่แสดงในงานเทศกาลต่างๆ เช่น การรำขอฝนจากพญาแถนให้ตกต้องตามฤดูกาล ในประเพณีงานบุญบั้งไฟ และการฟ้อนสมโภชงานบุญเทศน์มหาชาติ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงศิลปะการฟ้อน การแต่งกายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการหยอกล้อของหนุ่มสาว ที่มีความสนุกสนาน ร่าเริง ลักษณะการฟ้อนรำภูไท มีชายหญิงจับคู่กันเป็นคู่ ๆ แล้วฟ้อนในลีลาท่าทางให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนกันเป็นวงกลม แต่ละคู่จะผลัดกันเข้าไปฟ้อนกลางวงโชว์ลีลาท่าฟ้อน และมีข้อแม้ว่าหญิงสาวที่จะฟ้อนภูไทต้องเป็นสาวโสดเท่านั้น ผู้ที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อน และที่สำคัญอีกอย่างคือในขณะฟ้อน ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้
4.ฟ้อนหางนกยูง นางรำจาก อ.เมืองฯ อ.นาทม ชุดนี้ถือกำเนิดมากว่า 100 ปี เดิมใช้สำหรับบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประทานพรให้มีชัยชนะในการเข้าแข่งขันชิงชัยต่างๆ และแคล้วคลาดจากภยันตราย โดยเฉพาะในการแข่งขันเรือยาวในเทศกาลออกพรรษา ปกติการรำชนิดนี้จะแสดงบนหัวเรือแข่ง หรือรำถวายหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งท่าทางได้ดัดแปลงมาจากการรำไหว้ครูของนักรบ ก่อนออกศึกสงครามในสมัยก่อน โดยนำอาวุธของตนมาเป็นท่ารำ เช่น รำดาบ รำกระบี่ กระบอง โดยให้เข้าจังหวะกลองยาว ต่อมาปี พ.ศ.2542 ได้ดัดแปลงท่ารำให้มีลีลาอ่อนช้อย เหมือนท่านกยูงรำแพนประกอบกับดนตรีไทย และดนตรีพื้นเมืองได้อย่างลงตัว จึงถือเป็นชุดรำอันสวยงาม
5.รำไทญ้อ ซึ่งเป็นชนเผ่าญ้อ(ย้อ) ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ใน อ.ท่าอุเทน นาหว้า และโพนสวรรค์ โดยปกติการรำไทญ้อจะพบเห็นในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลที่สำคัญเท่านั้น เช่น ในเทศกาลสงกรานต์ ชาวไทญ้อจะมีการสรงน้ำพระในตอนกลางวัน ตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ ตั้งแต่วันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 เป็นต้นไป จนถึงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 5 โดยในตอนกลางคืนหนุ่มสาวในแต่ละคุ้มวัด จะจัดทำขบวนแห่ต้นดอกไม้บูชาพระธาตุ โดยนำต้นดอกจำปา(ลั่นทม) ไปบูชาวัดต่างๆ เริ่มจากวัดใต้สุดไปหาวัดเหนือสุด เมื่อเสร็จพิธีแห่ดอกไม้แล้ว จะเป็นช่วงแห่งความสนุกสนานของหนุ่มสาว จะมีการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน ดังปรากฏอยู่ในท่ารำดังกล่าว
6.รำหมากเบ็ง ของนางรำ อ.นาแก อ.วังยาง อันขันหมากเบ็งนี้เป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของภาคอีสาน คำว่า “เบ็ง” มาจาก “เบญจ” หมายถึงการบูชาพระเจ้า 5 พระองค์ คือ กกุสันโท,โกนาคมโน,กัสสโป,โคตโม และอริยเมตตรัยโย บรรพชนเล่าต่อๆกันว่าในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้นำขันหมากเบ็งถวายพระพุทธเจ้า โดยต่อมาชาวชนเผ่ากะเลิงได้ใช้ขันหมากเบ็งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความคติเชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงได้นำมาประดิษฐ์เป็นท่าฟ้อนรำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการแสดงนี้จึงหมายถึงพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตบูร ที่ได้นำขันหมากเบ็งมาถวายองค์พระธาตุพนม
ทั้งนี้ เมื่อการฟ้อนรำทั้ง 6 ชุดสิ้นสุดลง ก็มีการเซิ้งอีสานเพื่อเป็นการอนุรักษ์การรำเซิ้งอีสาน โดยเอานางรำทั้ง 6 ชุด 8 ชนเผ่ามารวมกัน และเมื่อสิ้นสุดรำเซิ้งอีสานแล้วเหล่านางรำทั้งหมดจะพากันก้มกราบองค์พระธาตุพนม อันเป็นภาพที่สวยงามและประทับใจยิ่งนัก ซึ่งเป็นการจบอย่างยิ่งใหญ่อลังการที่สุด
โดยการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถือกำเนิดมาตั้งแต่ก่อสร้างพระธาตุพนมในยุคแรก คือสมัยของพระมหากัสสปะเถระ และพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตบูร กาลต่อมาได้ปรากฏเป็นบันทึกหลักฐานไว้ว่า มีการรำบูชาพระธาตุพนมเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำติดต่อกันทุกปี ซึ่งการรำบูชาองค์พระธาตุพนมในอดีตนั้น สืบเนื่องจากพระธาตุพนมเป็นมหาเจดีย์เก่าแก่อายุกว่า 2,500 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชาและศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขงจนถึงปัจจุบัน ด้วยแรงศรัทธาปสาทะในองค์พระธาตุพนม อันมีอยู่ในสายเลือดของคนเหล่านั้น จึงผลักดันให้เกิดการเคารพบูชาในลักษณะต่างกัน ทั้งอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา สำหรับอามิสบูชานั้น นอกจากบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ยังมีการบรรเลงพิณพาทย์ มโหรี ด้วยการฟ้อนรำในโอกาสอันควรด้วย โดยเชื่อว่าการแสดงออกเป็นกุศล เป็นความดีงามอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ นายอุทัย นาคปรีชา ขณะดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครพนม (2527-2531) ได้ริเริ่มฟื้นฟูการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นในปี พ.ศ.2530 โดยให้ร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีหมายกำหนดงานในภาคเช้า ฟ้อนบูชาพระธาตุพนม บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ ส่วนภาคค่ำก็จะไหลเรือไฟในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้แต่ละอำเภอ นำศิลปะการแสดงประจำชนเผ่ามาโชว์ กระทั่งถึงปี 2532 นายมังกร กองสุวรรณ เป็น ผวจ.นครพนม คนต่อมา ได้เลื่อนพิธีการรำบูชาพระธาตุพนม ไปเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือวันตักบาตรเทโวหลังวันออกพรรษา 1 วัน กระทั่งถึงปี 2542 ก็เปลี่ยนให้กลับมารำบูชาพระธาตุพนม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษากระทั่งทุกวันนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: