นครพนม – เหรียญพระธาตุนคร 99 ปี พุทธาภิเษกถึง 2 วาระ พระอาจารย์สุริยันต์ศิษย์เอกหลวงปู่คำพันธ์ เมตตาอธิษฐานจิตเพิ่มความเข้มขลัง
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 นายพิเชฏฐ์ หลั่งทรัพย์ (อดีตผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ วิทยาลัยเทคนิคนครพนม หรือสารพัดช่างเดิม) ประธานชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพุทธศิลป์และการท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ (อดีตผู้อำนวยการ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย) ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม และ นายสุรัตน์ ก้องเกียรติกมล ผู้ร่วมก่อตั้งสร้างองค์พญาศรีสัตตนาคราชอันโด่งดัง นำวัตถุมงคลเหรียญรุ่นฉลองพระธาตุนคร 99 ปี เดินทางไปยังวัดป่าวังน้ำเขียว (วัดพุทธวนาราม) บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม เพื่อให้พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ (พระครูภาวนาชยานุสิฐ วิ.) อธิษฐานจิตอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางผู้จัดสร้างประกอบพิธีพุทธาภิเษกวาระแรกไปแล้ว ณ บริเวณลานพระธาตุนคร (พระธาตุประจำผู้เกิดวันเสาร์) จากนั้นได้นำมาให้พระอาจารย์สุริยันต์ปลุกเสกเพิ่มความเข้มขลังเป็นวาระที่สอง
สืบเนื่องจาก พระธาตุนคร 1 ใน 8 พระธาตุประจำวันเกิด จะมีอายุครบ 99 ปี ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม,ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพุทธศิลป์และการท่องเที่ยวนครพนม ได้เชิญนายสุรัตน์ผู้มีส่วนสำคัญในการจัดสร้างองค์พญาศรีสัตตนาคราชร่วมประชุมหารือ เห็นควรจัดสร้างเหรียญและวัตถุมงคล เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระธาตุนคร อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ ให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ร่วมชื่นชมยินดี บูชาเก็บไว้เพื่อสักการะบูชา หรือบูชาไปเพื่อมอบเป็นขวัญที่ล้ำค่าให้เพื่อน ญาติพี่น้อง และผู้อยู่ใต้สังกัดในห้วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และคนใกล้ชิด
ข่าวน่าสนใจ:
- พรรคเพื่อไทย จัดทีม “ฮักนครพนม” ลง นายก อบจ. - ส.อบจ.นครพนม
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- ตำรวจนครพนมทลายขบวนการค้ายาเสพติด ยึดยาบ้า 2 ล้านเม็ด ไอซ์ 46 กก. ผู้ต้องหา 4 ราย รับจ้างข้ามชาติ
วัตถุมงคลพระธาตุนคร 99 ปี จัดสร้างจำนวนจำกัด ประกอบด้วย เนื้อทองคำ,เนื้อเงินลงยา,เนื้อเงินบริสุทธิ์,เนื้อทองแดงรมดำ,เนื้อทองแดงโค๊ตกรรมการ,เนื้อผงตะกรุดเงิน,เนื้อผงตะกรุดทองแดง โดยทุกเนื้อตอกโค๊ตไว้อย่าชัดเจน รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพุทธศิลป์และการท่องเที่ยวนครพนม จะนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสาธารณะกุศลของสมาคมฯและชมรมฯในวาระต่างๆ
ผู้สนใจในวัตถุมงคลรุ่นประวัติศาสตร์นี้สามารถสั่งจอง หรือ โทรศัพท์สอบถามได้ที่นายสุรัตน์ ก้องเกียรติกมล (เฮียฮอลล์) 086-321-0566 id Line hon1960,นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ 081-462-9963 , 093-294-9393 และ นายพิเชฏฐ์ หลั่งทรัพย์ 083-144-8555
พระธาตุนคร ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันของคนเกิดวันเสาร์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เทศบาลเมืองนครพนม เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดมิ่งเมือง มีความสูง 24 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 5.85 เมตร สร้างโดยพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) แม่ทัพใหญ่ที่มาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว จำลองแบบมาจากพระธาตุพนม (องค์เดิม) ใช้เวลาสร้างประมาณสองปี แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2465 ภายในบรรจุพระอรหันตธาตุ ซึ่งค้นพบจากเจดีย์เก่าแก่ภายในวัดนั่นเอง พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ เงินบรรจุผอบไม้จันทร์แดง และของมีค่าต่างๆ ที่ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาในสมัยนั้นนำมาถวาย เชื่อกันว่าใครได้ไปสักการะพระธาตุนคร ไม่ว่าจะเกิดวันไหน ล้วนได้รับอานิสงส์ส่งผลให้มีบุญวาสนา มีความสุขสวัสดิ์ มีความมั่งคั่งร่ำรวย สุขภาพแข็งแรง เสริมบารมี อำนาจวาสนา เป็นเจ้าคนนายคน เป็นเจ้าคนนายคน
โดยมีหลักฐานว่าวัดมิ่งเมือง หรือวัดพระธาตุนครในปัจจุบันสร้างเมื่อปี พ.ศ.1150 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2464 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 79 ตารางวา ต่อมาชาวบ้านนิยมเรียกกันติดปากว่า“วัดธาตุ” โดยมีสาเหตุดังนี้ คือ 1.ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าสู่ลูกหลานฟังต่อๆ กันมาว่า ที่วัดมิ่งเมืองนี้มีพระธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุ 2.ภายในวัดมิ่งเมืองนี้ มีเจดีย์ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง หลายสิบองค์ และ 3.เจ้าเมืองหรือชาวบ้านแต่ก่อนนิยมสร้างธาตุเจดีย์ ไว้เป็นที่บรรจุอัฐิของบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย วัดมิ่งเมืองนี้จึงเต็มไปด้วยธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก ภายหลังเมื่อมีการสร้างพระธาตุขึ้น พระครูพนมนครคณาจารย์ ได้ทำการบันทึกเสนอขอตั้งชื่อวัดเป็น “วัดมหาธาตุ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และมีงานฉลองสมโภชซึ่งถือเป็นงานประจำปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
สำหรับประวัติพระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ วัดป่าวังน้ำเย็น เกิดในครอบครัวชาวนาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2522 บ้านเหล่า ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม แรกเกิดมีสายรกพันคอคล้ายผ้าจีวรพันร่าง ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด ตอนอายุประมาณ 10 ขวบยายพาไปขายถั่วต้มในงานประจำปี ระหว่างร้องขายของได้เดินผ่านร้านขายกรอบรูป ของที่ระลึก เห็นกรอบรูปหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ (พระสุนทรธรรมากร) วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม เกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาทันจึงถามเจ้าของร้านว่าขายเท่าไหร่ โดยเจ้าของร้านเห็นการแต่งกายแล้วนึกสงสาร ตอบไปว่าหากต้องการจริงๆจะขายในราคาต้นทุน ท่านจึงนำไปกราบไหว้บูชาไว้ที่บ้าน แล้วอธิษฐานว่าวันหนึ่งจะต้องไปกราบหลวงปู่คำพันธ์ที่จังหวัดนครพนมให้ได้
ต่อมาอายุได้ 17 ปีได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบูรพาเทพนิมิต อ.กุจินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าอาวาสได้พาไปกราบหลวงปู่คำพันธ์จึงขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งแนวทางการสอนหลักธรรมของหลวงปู่คำพันธ์จะไม่ให้จดแต่ให้จำเอา เมื่อกลับไปวัดบูรพาเทพนิมิต หากติดขัดในหลักธรรมข้อไหน ท่านจะนั่งรถโดยสารไปวัดธาตุมหาชัยที่อยู่ไกลกว่า 200 กิโลเมตร เทียวไปเทียวระหว่างวัดบูรพาเทพนิมิตกับวัดธาตุมหาชัยนานหลายปี จนมีความแตกฉานด้านธรรมและภาษาบาลี อายุครบอุปสมบทเมื่อปี 2542 ได้ฉายาโฆสปัญโญเหมือนพระอาจารย์ โดยหลวงปู่คำพันธ์เคยกล่าวศิษยานุศิษย์ว่าหากท่านละสังขารไปแล้ว ให้ไปหาตัวแทนของท่านพร้อมชี้นิ้วมาที่พระอาจารย์สุริยันต์ และมีเรื่องเหลือเชื่อว่าแม้พระอาจารย์สุริยันต์จะกลายเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่คำพันธ์ แต่ท่านไม่เคยได้จำพรรษาอยู่วัดธาตุมหาชัยแม้แต่พรรษาเดียว
ภายหลังพระอาจารย์สุริยันต์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาเทพนิมิต ถึงปี 2549 ญาติโยมชาวบ้านวังนำเขียวได้ยกที่ดินส่วนหนึ่งพัฒนาจากที่รกร้างเพื่อตั้งวัดจนปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น มีลูกศิษย์อยู่ทั่วทุกสารทิศ มีสิ่งปลูกสร้างจากแรงศรัทธาของศาสนิกชน ได้แก่ ศาลาหลวงปู่คำพันธ์,ศาลาปฏิบัติธรรมไม้สัก 112 ต้น,พระมหาธาตุเจดีย์ศรีมหาสารคาม,ศาลาเสาไม้ตะเคียนทอง,อุโบสถเสาไม้ตะเคียนทอง หลังใหญ่ที่สุดในประเทศไทย,หอระฆังเสาไม้ใหญ่ และกำลังสร้างศาลาไม้หลังใหญ่อย่างน้อยอีก 3 หลัง ซึ่งจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาในอนาคตอันใกล้นี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: