X

ผู้ว่า ฯ นครพนมเร่งมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค จากภาวะราคาหมูแพงจนหูฉี่

ผู้ว่า ฯ นครพนมเร่งมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค จากภาวะราคาหมูแพงจนหูฉี่ พาณิชย์ปักหมุด 4 เขียงขาย 150 บาท/กก.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม นายสัตวแพทย์อดิศร ชาติสุภาพ ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม และนางสาวธนิตา อาจชารี ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม ร่วมประชุมหารือมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาสุกร (หมู) ที่สูงขึ้น

โดยประเด็นเกี่ยวกับราคาหมูที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้านเกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ประเทศไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อหมูลดลง ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรลดลง ส่งผลให้ปริมาณหมูในระบบลดลง และโรคเพิร์ส หรือ PRRS ซึ่งเป็นโรคระบาดในหมูชนิดระบาดทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ ที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคและไม่มียารักษา

ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องเน้นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าฟาร์ม เพิ่มการป้องกันโรคตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) อย่างสูงสุด เพื่อให้สามารถป้องกันโรคได้ เนื่องจากเชื้อโรคมีความคงทนสูงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน เช่น อยู่ในมูลหมูได้ 11 วัน อยู่ในคอกหมูได้ 30 วัน อยู่ในเลือดหมูได้ 540 วัน อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้นาน 1,000 วัน เป็นต้น และต้องสัมผัสยาฆ่าเชื้อนานอย่างน้อย 30 นาทีเชื้อโรคจึงจะตาย โรคนี้ยังติดต่อได้ง่ายมากจากการนำเศษอาหารไปเลี้ยงหมู ติดมากับคน รถ หรืออุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ หมูที่ติดโรคจะแสดงอาการไข้สูง หายใจลำบาก ไอ มีผื่นแดงที่ผิวหนัง ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด ข้ออักเสบ บางตัวตายเฉียบพลัน และแม่ตั้งท้องมักจะแท้ง

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาหมูแพงในพื้นที่ ด้วยมาตรการเร่งด่วนสั่งห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน (6 ม.ค. 65-5 เม.ย. 65) พร้อมจัดโครงการ หมูพาณิชย์ ลดราคา ช่วยประชาชน จำนวน 2 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 พ.ย.–31 ธ.ค. 64 จำหน่ายหมูเนื้อแดง ราคากิโลกรัมละ ไม่เกิน 130 บาท

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-15 ม.ค. 65 จัดเขียงหมูจำหน่ายหมูเนื้อแดง ราคากิโลกรัมละ ไม่เกิน 150 บาท จำนวน 4 จุด ดังนี้ 1. แหลมทองโภคภัณฑ์ ข้างธนาคารออมสินนครพนม เขตเทศบาลเมืองนครพนม 2. อารีย์เนื้อหมูสด ตำบลหนองสังข์ อำเภอนาแก 3. ตุ๊ดตู่หมูสด ตำบลพิมาน อำเภอนาแก และ 4. กวินหมูสด ตำบลนาแก อำเภอนาแก ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก คาดว่าจะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องอีก และประเด็นต่อมาได้มีการเจรจา/ส่งเสริมให้ฟาร์มกระจายพันธุ์ลูกหมูขุนแก่เกษตรกรรายย่อยและเล็ก ที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่

ส่วนมาตรการระยะสั้นคือ การส่งเสริมและสนับสนุนขยายกำลังผลิตของฟาร์มแม่พันธุ์  และให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ตรวจสอบ แนะนำ ในการพัฒนาฟาร์มโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับมาเลี้ยงได้ใหม่โดยเร็ว

สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แก่การยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด การส่งเสริมและพัฒนาระบบการป้องโรคให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดการฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) หรือ เกณฑ์การรับรองฟาร์มมาตรฐาน (Good Agricultural Practice : GAP) และการสนับสนุนการเลี้ยงโดยมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ผ่านโครงการสานฝันสร้างอาชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจราคาเนื้อหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม พบว่ามีราคาเนื้อสันนอก-ในจากเดิมกิโลกรัมละ 150 บาท ขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งผู้จำหน่ายเผยว่าถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจจะมีการปรับราคาเพิ่มอีก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน