ผวจ.นครพนม สักการะบูชา องค์ปุงเถ้า – ก๋งม่า หลังคนร้ายขโมยไป แล้วเอามาคืนให้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของชาวนครพนม
วันที่ 14 ม.ค.65 ที่ศาลเจ้าพ่อหมื่นนครพนม ในบริเวณวัดโอกาส ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ถ.สุนทรวิจิตร อ.เมือง จ.นครพนม นายชาธิป รุจเสรี ผวจ.นครพนม เป็นประธานในพิธีสักการะบูชา ต้อนรับองค์ปุงเถ้า – ก๋งม่า หลังคนร้ายขโมยไปและเอามาคืนส่งให้ที่บริเวณข้างรั้ววัดฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของชาวนครพนม โดยมีนายสุเทพ อติวรรณกุล นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนม นายพรชัย กุลตังวัฒนา พร้อมสมาชิกสมาคมพ่อค้าบางส่วน ให้การต้อนรับและทำพิธี
องค์ปุงเถ้า – ก๋งม่า ได้ถูกคนร้ายขโมยไปจากหิ้งบูชา ที่ศาลเจ้าพ่อหมื่นนครพนม เมื่อคืนวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา แล้วคนร้ายได้นำมาคืนในช่วงเช้าวันที่ 7 ม.ค. โดยวางไว้ใต้เสาไฟฟ้าแรงสูงข้างกำแพงวัดด้านทิศเหนือของวัดโอกาส (ศรีบัวบาน)
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
องค์ปุงเถ้า – ก๋งม่า ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหมื่น ประมาณ 80 ปี เป็นที่เคารพสักการะบูชา ของชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม เมื่อข้าราชการได้ย้ายมาปฏิบัติราชการที่ จ.นครพนม ต้องเข้าไปสักการะบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลของชีวิตและครอบครัว
ตามตำนานเจ้าพ่อหมื่นเล่าว่า “จมื่นรักษาราษฏร์” สมัยนั้นเป็นนายกองเมือง ต่างพระเนตรพระกรรณแทนเจ้าพระยาศรีโคตบูรหลวง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จึงเป็นที่รักใครของประชาชนและลูกหลาน ท่านเข้าวัดปฏิบัติธรรมมิได้ขาด ทั้งยังเป็นแพทย์รักษาโรคแผนโบราณโดยไม่คิดมูลค่า อีกทั้งจมื่นฯผู้นี้ยังมีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันชาตรี และเป็นต้นศรัทธาให้ชาวบ้านโพธิ์ค้ำในอดีต สร้างวัดศรีบัวบานหรือวัดโอกาสในปัจจุบัน
ครั้นจมื่นฯมีอายุได้ 90 ปีเศษ วันหนึ่งท่านอยากกินหมกกุ้งหมกซิว (ห่อหมก) จึงให้ลูกหลานไปช้อนกุ้งช้อนซิว(จับโดยใช้สวิง)ในแม่น้ำโขง ได้แต่ไข่ลูกโตๆเท่าไข่ห่าน แม้จะเอาโยนทิ้งน้ำ ยังมาถูกสวิงเช่นเดิม จมื่นฯจึงบอกลูกหลานให้นำไข่ดังกล่าวมาหมกให้กิน เมื่อกินไข่แล้วเกิดร้อนรนกระวนกระวาย กระหายน้ำ ลูกหลานจึงรีบนำจมื่นฯไปอาบน้ำโขง ดำผุดดำว่ายนานมาก ลูกหลานบอกให้ขึ้นแต่จมื่นฯกับร้องขอผ้าแดง 1 ผืนมาโพกศีรษะ แล้วดำหายไปในน้ำโขง จึงช่วยกันงมหาแต่ไม่พบ ขณะนั้นปรากฏมีเงือกงูใหญ่ตัวหนึ่งผุดขึ้นลอยอยู่ในแม่น้ำโขง จึงให้คนขี่ม้าเร็วไปกราบทูลพระเจ้าศรีโคตบูรหลวงทรงทราบ พระองค์รีบเสด็จลงเรือตรัสกับเงือกงูใหญ่ตัวนั้นว่า “จมื่นฯเอ๋ยแกเป็นคนดี เมื่อแกมรณกรรมแล้วยังห่วงประชาชนอยู่ ขอให้แกรักษาทางน้ำ ทางบกตลอดใต้สุดและเหนือสุด ตั้งแต่ผาใด ผาด่าง ถ้ำใต้ถึงแก่งหลี่ผีสีพันดอนเป็นเขตบก ทิศตะวันออกจรด
ภูเขาไม้ล้มแบ่ง ทิศตะวันตกถึงภูเขาดงพญาไฟ ให้แกไปอยู่ที่หางดอนโดน จะปลูกศาลให้เดือน 6 ปีใหม่ ทุกปีจะเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ”
จากนั้นพระองค์จึงนำข้าวสุก 1 ปั้น ไข่ต้ม 1 ฟองที่เตรียมมาให้เงือกงูตัวนั้นกิน ก่อนเงือกงูตัวใหญ่ดำจมหายไป กลายเป็นผีมเหศักดิ์หลักเมืองของนครศรีโคตบูร นับแต่นั้นมา
ต่อมาใน พ.ศ.2501 พ่อค้านครพนมได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าพ่อหมื่น เป็นศาลจีนเพื่อเป็นมงคลแก่ชาวนครพนม เพื่อให้เจ้าพ่อหมื่นสถิตเป็นหลักเมืองนครพนม แต่ทว่าเจ้าหมื่นอยากอยู่เป็นเอกเทศไม่อยากอยู่ศาลจีน พระครูวิชิตพัฒนคุณจึงสร้างศาลใหม่ครอบศาลเก่าดังกล่าว ทั้งสองศาลเจ้าที่อยู่คู่กัน จึงเรียกร่วมกันว่าศาลเจ้าพ่อหมื่น
วันแรม 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวบ้านคุ้มวัดโอกาสจะจัดงานเซ่นไหว้ดวงวิญญาณเจ้าพ่อหมื่นสืบเนื่องมาแต่โบราณ โดยจะมีร่างทรงฟ้อนรำดาบ รำง้าว พร้อมนำเครื่องเซ่นไหว้ มีเหล้าขาว 1 ขวด มะพร้าวอ่อน 1 ลูก ผ้าแดง 1 ผืน หมากพลู บุหรี่ และตุ๊กตาช้างม้าโบราณ ชาวนครพนมเชื่อว่าศาลเจ้าพ่อหมื่นศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้ผู้ทำผิดเกิดอาเพศต่างๆ และจะอำนวยโชคให้ผู้เคารพนับถือเป็นนิจกาล
ครั้นถึงเดือน 11 ของทุกปีสมาคมชาวจีนฯ จะจัดงานงิ้วเฉลิมฉลอง 6 วัน 6 คืนเป็นประเพณี ด้านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มารับราชการที่ จ.นครพนม จะมาคารวะศาลเจ้าแห่งนี้เสมอ ส่วนผู้ที่มาบนบานเชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จในธุรกิจค้าขายรุ่งเรือง และหน้าที่การงานมั่นคง
นายชาธิป รุจนเสรี ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า ตนได้ทราบข่าวที่ องค์ปุงเถ้า – ก๋งม่า หายไป ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหาผู้ร้ายมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จากการที่คนร้ายได้นำองค์ปุงเถ้า – ก๋งม่า มาคืน บารมีของท่านได้กลับมาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวนครพนมได้กลับมาเพื่อการสักการะบูชาต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: