X

เกษตรจังหวัดนครพนม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ (Biochar)

เกษตรจังหวัดนครพนม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ (Biochar) ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอปลาปาก จัดกิจกรรมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้โครงการศึกษาการจัดการ ดิน ปุ๋ย และน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การนำวัสดุทางการเกษตรเผาเป็นถ่านชีวภาพสำหรับปรับปรุงดิน สร้างทัศนคติให้เกษตรกรยอมรับการใช้ถ่านชีวภาพปรับปรุงดิน การใช้ถ่านชีวภาพร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน จะทำให้เกษตรกรเห็นแนวทางการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เป็นต้นแบบขยายผลสู่ชุมชน ณ หมู่ที่ 9 บ้านโคกสูง ตำบลโคกสูง อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วม จำนวน 70 ราย

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดนครพนมประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเกษตรกรหลายๆ คนมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์เพราะมีการใช้ประโยชน์จากดินที่ไม่ถูกวิธีและต้องนำเอาสารเคมีเข้ามาเป็นตัวช่วย ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพของดินที่เสื่อมโทรมด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรได้มีปุ๋ยในการปรับปรุงบำรุงดินไว้ใช้งาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ สำนักงานงานเกษตรจังหวัดนครพนมได้เล็งเห็นว่าถ่านไบโอชาร์ (biochar) นั้นมีคุณสมบัติที่ดี ซึ่งเมื่อนำไปปรับปรุงสภาพดินแล้ว จะทำให้ดินมีรูพรุนระบายอากาศมากขึ้น สามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น ดูดซับแร่ธาตุ ที่เป็นอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ดี ทั้งยังลดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ที่สำคัญคือเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยภายในงานมีการจัดสถานีเรียนรู้ 3 สถานี ได้แก่ 1.การผลิตถังไบโอชาร์ 2.การผลิตถ่านไบโอชาร์ 3.การใช้ประโยชน์ไบโอชาร์ในการเกษตรและการสร้างมูลค่าเพิ่ม

สำหรับไบโอชาร์ (biochar) เป็นถ่านชีวภาพที่ผลิตจากชีวมวล เช่น วัสดุทางการเกษตรต่างๆ มีคุณสมบัติแตกต่างจากถ่านทั่วไปที่เน้นใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินเป็นหลัก เนื่องจากมีรูพรุนสูง ช่วยในการปรับสภาพของดิน ทั้งการอุ้มน้ำ การระบายอากาศ ช่วยในการดูดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ลดความเป็นกรดด่างของดิน และที่สำคัญคือเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชในดินที่สำคัญช่วยดูดซับธาตุอาหารที่มีประจุบวกทำให้มีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืชอย่างช้า ๆ ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตไบโอชาร์ เป็นการผลิตที่ใช้กระบวนการ Pyrolysis ซึ่งมีหลักการที่สำคัญคือผ่านความร้อนโดยไม่ใช้ออกซิเจน โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 500 – 700 องศาเซลเซียส ผลผลิตที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกับถ่านทั่วไป แต่จะมีน้ำหนักที่เบา มีความเป็นมันเงาและคงสภาพของวัสดุที่เผาได้มากกว่า

ขั้นตอนในการผลิตถ่านไบโอชาร์ เริ่มต้นจากการจัดทำเตาในการเผาโดยจะนำถังเหล็กขนาด 200 ลิตร มาตัดและประกอบเป็นเตาเผาซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนฐานของเตาเผา ส่วนเตาเผา และส่วนฝาครอบพร้อมปล่องควัน พร้อมทั้งเจาะรูเป็นรูปสามเหลี่ยมรอบๆ ตัวถัง สำหรับวัสดุที่จะใช้ในการเผาถ่านไบโอชาร์อาจจะใช้กิ่งไม้ขนาดเล็ก หรือเศษใบไม้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ ในพื้นที่ โดยจะต้องใส่ให้แน่นเต็มถังเพื่อไม่ให้มีอากาศในถังมาก ใช้ฟางข้าววางทับบนวัสดุดังกล่าว เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการเผา เมื่อจุดไฟติดแล้วให้นำฝาครอบพร้อมปล่องควันมาวางปิดทับบนฝาถัง จะสังเกตได้ว่ามีควันแค่เล็กน้อยตอนจุดไฟที่ฟางเท่านั้น ประมาณ 5 นาทีควันก็จะหายไป ซึ่งขบวนเผาแบบไบโอชาร์ หรือ gasifier นี้จะเป็นการเผาแบบข้างบนลงข้างล่างเป็นการเผาแบบไร้ควัน เปลวไฟที่ลุกขึ้นมานั้นจะมาชนก้นถังเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วการเผาถ่านทั่วไปเมื่อไฟติดแล้วจะมีควันออกมาทางปล่องควันเลย แต่การเผาด้วยวิธีการนี้ได้ทำการเจาะเป็นสามเหลี่ยมไว้ เพื่อให้ออกซิเจนจากข้างนอกจะไหลเข้าไปในถังจากช่องสามเหลี่ยมแล้วก็ไปผสมกับควันที่เกิดจากการเผาไหม้ทำให้ช่วยเผาไหม้ควันเสียสนิท ทำให้ไม่มีควันออกมารบกวนระหว่างการเผา ระยะเวลาในการเผาถ่านไบโอชาร์ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าใช้ไม้เนื้ออ่อนหรือแข็งมากแค่ไหนสำหรับวิธีการสังเกตดูว่าไฟไหม้ถึงไหนหรือว่าไหม้ไม้หมดหรือยัง ให้สังเกตดูถังว่ามีสีดำถึงบริเวณไหน โดยให้รอจนกว่าจะเผาเสร็จและไฟดับไปเอง จากนั้นจึงเปิดฝาถังและเทถ่านไบโอชาร์บนวัสดุที่ใช้รอง และตากไว้ให้เย็น จากนั้นจึงนำมาบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปใช้ประโยชน์

สำหรับการใช้ประโยชน์จากถ่านชีวภาพสามารถใช้ลดต้นทุนในการผลิตทางการเกษตร ได้แก่ 1 การทำให้ถ่านชีวภาพมีขนาดเล็กที่สุด และคลุกเคล้าผสมกับดิน 2 ผสมถ่านชีวภาพกับปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ในอัตราส่วนร้อยละ 50 โดยคลุกผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน 3 นำถ่านชีวภาพผสมกับปุ๋ยหมักไปโรยลงบนดิน ในขั้นตอนการเตรียมดินก่อนปลูกพืช นอกจากคุณสมบัติในการปรับปรุงบำรุงดินแล้วยังทำให้พืชแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน