X

อุทยานแห่งชาติภูลังกา ประกาศยกเลิกไกด์ ”ถ้ำนาคี” อ้างผิดกฎหมาย

อุทยานแห่งชาติภูลังกา ประกาศยกเลิกไกด์ ”ถ้ำนาคี” อ้างผิดกฎหมาย หวั่นเปิดช่องเอกชนเข้าชุบมือเปิบ

จากกรณีที่ นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม(ส.วธ.นพ.) พร้อมคณะได้มีโปรแกรมลงพื้นที่ศึกษาและสำรวจ ถ้ำนาคีในอุทยานแห่งชาติภูลังกา บ้านนาโพธิ์ หมู่ 3 ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ โดยใช้ห้องประชุม อบต.ไผ่ล้อม เป็นสถานที่โสเหล่ (เป็นภาษาอีสานหมายถึงจับกลุ่มพูดคุยกัน) เสวนามรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชุน และผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้จักพื้นที่ในอดีตเป็นอย่างดี อาทิ นายรุ่งเรือง แพงโท อายุ 80 ปี อดีตกำนันฯนายบรรจง กุณรักษ์ อายุ 69 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอแผนโบราณ ตลอดจนพี่น้องชาวบ้านนาโพธิ์อีกจำนวนหนึ่ง โดยมี นายเนวิน แพงมาพรหม นายก อบต.ไผ่ล้อม พร้อมรองนายกฯ เลขานุการฯ อำนวยความสะดวกด้านสถานที่

นายรุ่งเรืองอดีตกำนัน ต.ไผ่ล้อม เปิดเผยว่าเทือกเขาภูลังกายังไม่มีหน่วยงานกรมอุยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาตั้งที่ทำการอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขาภูลังกา ยึดอาชีพด้านการเกษตร โดยภูลังกาเป็นป่ารกครึ้มมีความอุดมสมบูรณ์มาก สมัยนั้นช่วงฤดูฝนชาวบ้านต้องลงนาปลูกข้าว ก็นำวัว ควายขึ้นไปเลี้ยงไว้บนภูลังกา เพราะพื้นล่างไม่มีที่ให้หากินหญ้าเนื่องจากต้องปักดำนาตามฤดูกาล โดยมีวัวควายรวมๆกันแล้วกว่า 300 ตัว ชาวบ้านก็จะผลัดเปลี่ยนเวรยามขึ้นไปเฝ้ากันขโมยมาลัก พอสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวถึงจะนำสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นกลับมาที่พื้นล่าง

อดีตกำนันเล่าต่อว่าตอนนั้นไม่มีใครรู้จักถ้ำนาคีกัน ส่วนมากจะรู้แต่ว่าบนภูลังกามีถ้ำยา เพราะจะมีใบยาสูบปลิวไม่รู้ว่าปลิวมาจากทิศทางไหน ตกเกลื่อนบริเวณนั้น เมื่อตามหาต้นก็ไม่พบ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเจ้าป่าเจ้าเขามอบให้ พอนำใบยานั้นมาปรุงรักษาโรคก็หายกันถ้วนหน้า ตรงนั้นจึงเรียกกันติดปากว่าถ้ำยา ต่อมามีข่าวว่าค้นพบถ้ำนาคีและมีหินลักษณะคล้ายเศียรพญานาคและงูจงอางยักษ์ สอบถามลูกหลานถึงรู้ถ้ำที่ว่าก็คือถ้ำยา เพราะมีการถางป่าที่รกครึ้มถึงเจอหินดังกล่าว สมัยนั้นไม่มีใครถางจึงไม่เห็นกัน

ด้าน นายบรรจงปราชญ์ชาวบ้านกล่าวว่า ก่อนที่จะมาเป็นอุทยานแห่งชาติภูลังกา เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ วนอุทยาน อุทยานเตรียมการ เป็นต้น ยุคนั้นมีคอมมิวนิสต์อยู่เยอะ ทหาร ตำรวจ อส. ขึ้นมาประจำ โดยเชื่อมโยงกันกับคอมมิวนิสต์ทางด้านฝั่งเทือกเขาภูพาน อ.นาแก จ.นครพนม เคยมีอดีตคอมมิวนิสต์เล่าว่าในภูลังกามีถ้ำแห่งหนึ่ง ปากทางเข้าจะแคบแต่ข้างในกว้างโล่ง จึงใช้สำหรับเป็นโรงพยาบาลมีเตียงประมาณ 40 เตียง นายบรรจงยังเล่าว่าอดีตคอมมิวนิสต์ยังบอกอีกว่าในถ้ำนั้น มีเงินธนบัตรจำนวนหนึ่งและหีบทองคำอีกจำนวนหนึ่ง หลังการสู้รบสงบก็ช่วยกันผลักดันหินมาปิดปากถ้ำไว้ โดยรอจังหวะเหมาะๆค่อยกลับเข้ามาขนของล้ำค่านั้น แต่นานวันเข้าป่าปกคลุมจนจำไม่ได้ว่าถ้ำนี้อยู่ตรงไหน จึงกลายเป็นปริศนาถ้ำโกโบริอีสานมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ นายสุรชาติ ดีโคตร ผู้ใหญ่บ้านนาโพธิ์ หมู่ 3  ต.ไผ่ล้อม เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีนักท่องเที่ยวรู้จักถ้ำนาคีผ่านสื่อท้องถิ่น จึงมีคนดัง ศิลปิน ดารา นักร้อง พากันมาเที่ยวชมความสวยงาม ทำให้ชื่อถ้ำนาคีกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานมีกำลังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ทางอุทยานจึงรวบรวมลูกหลานชาวบ้านที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในชุมชนคือเริ่มที่บ้านนาโพธิ์มาอบรมเป็นไกด์อาสา เบื้องต้นอบรมชุดแรกช่วงเดือนธันวาคม 64 จำนวน 100 คน

ต่อมาในระยะเวลาแค่ 2 เดือนนักท่องเที่ยวเริ่มมีจำนวนมากขึ้น อุทยานจึงเปิดอบรมไกด์อาสารุ่นที่ 2 จำนวน 200 คน ครั้งนี้เป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ อ.บ้านแพง เสียค่าสมัครคนละ 300 บาท ได้เสื้อฟอร์มและป้ายมาอย่างละ 1 อย่าง โดยมีเงื่อนไขในการบริการนักท่องเที่ยว ว่า นักท่องเที่ยว 1-10 คนใช้ไกด์ 1 คน หากเกินแต่ต้องไม่เกิน 20 คน ให้ใช้ไกด์ 2 คน เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการนักท่องเที่ยว

นายสุรชาติกล่าวต่อว่า ตรงจุดนี้เองทำให้มีกลุ่มเอกชนมองเห็นช่องทาง ในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยใช้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นตัวขับเคลื่อนให้บรรจุถึงเป้าหมาย ดังนั้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางอุทยานจึงเรียกไกด์อาสาเข้าประชุมที่ห้องประชุมของอุทยาน โดยมีหน่วยงานราชการ และองค์กรด้านการท่องเที่ยวร่วมนั่งหัวโต๊ะ ซึ่งอุทยานอ้างถึงระเบียบข้อกฎหมายฯ จึงจะยกเลิกไกด์อาสาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้ แต่ให้ไปรายงานตัวกับองค์กรหนึ่ง เพื่อทำเรื่องขอกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไกด์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งในการประชุมนั้นมีข้อกำหนดว่า ไกด์ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป หลังสิ้นการประชุมมีชาวบ้านมาปรึกษา เนื่องจากลูกหลานหลายครอบครัวมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่เด็กเหล่านั้นมีความกระตือรือร้นในการทำหน้าที่ไกด์อาสาอย่างมาก ทุกวันต้องตื่นแต่ตีสามตีสี่เพื่อไปทำงาน มีรายได้จากตรงนี้มาจุนเจือครอบครัว แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญทำให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด ตนหารือผู้หลักผู้ใหญ่แล้วจึงสรุปว่าจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผ่านทางนายอำเภอบ้านแพง รับทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้

ต่อมาได้มีคำสั่งแจ้งอย่างไม่เป็นทางการลงในไลน์กลุ่มไกด์อาสา ดังนี้ “แจ้ง อาสาฯ ทุกท่าน เพื่อทราบและดำเนินการ

เรื่อง การเป็น “ผู้นำเที่ยวท้องถิ่น” โดยแท้จริง และการยกเลิกการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ด้วยทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้มีราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการอนุญาตให้กระทำการในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ เล่มที่ 138 ตอนพิเศษ 301 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 (เคยมีการแจ้งในที่ประชุมในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบึงโขงหลงแล้ว)

ส่วนที่ 3 การอนุญาตเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์

(3) ประเภทที่สาม การบริการนำเที่ยว

เพื่อที่จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเที่ยวท้องถิ่นโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้การรับรองจากกรมอุทยานในการนำเที่ยวในพื้นที่ของอุทยานจริง จะต้องทำการยื่นเอกสารต่อกรมอุทยานฯ เพื่อรับใบอนุญาตต่อไป

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว อุทยานแห่งชาติภูลังกาจึงแจ้งยกเลิกการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทุกท่าน และให้ผู้ที่ต้องการเป็นผู้นำเที่ยวท้องถิ่น (ดูแล อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือนักท่องเที่ยว รวมถึงดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติ และอื่น ๆ) ให้ดำเนินการยื่นการสมัครต่ออุทยานแห่งชาติภูลังกา ภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อที่อุทยานแห่งชาติจะได้เสนอต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไป เพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2565

ผู้ขออนุญาตฯ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

(ก) มีสัญชาติไทย

(ข) บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย (อายุ 20 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป)

(ค) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ หรือเคยได้รับโทษจำคุกแต่พ้นโทษมาแล้วเกินห้าปี

(ง) ไม่เป็นผู้เคยถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้

ผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว จะต้องทำการยื่นเอกสารหลักฐานต่อไปนี้ ต่ออุทยานแห่งชาติภูลังกา ภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

(ก) เอกสารการอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้อาสาทำการติดต่อขอใบรับรองการอนุญาตเป็นผู้นำเที่ยวท้องถิ่นด้วยตัวเองที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาประจำจังหวัด

(ค) แผนผังบริเวณและขนาดพื้นที่ที่ใช้ดำเนินกิจกรรม  อุทยานจะจัดทำไว้ให้

(ง) รายละเอียดของการดำเนินกิจการ  อุทยานจะจัดทำไว้ให้

(จ) จำนวนคน อุปกรณ์ หรือยานพาหนะ ที่ใช้ในการให้บริการ  อุทยานจะจัดทำไว้ให้

(ฉ) มาตรการในการควบคุมดูแล และรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ  อุทยานจะจัดทำไว้ให้

(ช) อัตราค่าบริการ ให้อาสาทำการประชุมกันเองในหมู่อาสาทุกคน และลงมติกัน จากนั้นให้ตัวแทนอาสามาทำการแจ้งมติที่ประชุมต่ออุทยานภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 (1. อาสาถ้ำนาคา 2. อาสาถ้ำนาคี 3. อาสาถ้ำกินรีนาคา)

(ซ) หลักฐานหรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

หมายเหตุ 1) หลังจากทางกรมอุทยานฯ ให้ใบอนุญาตมาแล้ว ผู้ใดที่ไม่มีใบอนุญาต จะไม่สามารถนำเที่ยวนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานได้

2) สำหรับบุคคลที่คุณสมบัติไม่ตรง (เช่น อายุต่ำกว่า 20 ปี) ให้รอการพิจารณาโดยหัวหน้าอุทยานร่วมกับผู้อำนวยการส่วนอุทยานฯ และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ฯ และจะนำแจ้งอีกครั้ง

3) ในข้อ (ก) เอกสารการอนุญาตฯ เจ้าหน้าที่กำลังสอบถามไปทางการท่องเที่ยวฯ หากทางท่องเที่ยวแจ้งมาว่าอย่างไร จะแจ้งให้อาสาทราบและดำเนินการอีกครั้ง หรือหากอาสาท่านใดสามารถติดต่อกับทางท่องเที่ยวได้เป็นการส่วนตัวและสอบถามข้อมูลตรงนี้มาได้ สามารถแจ้งมาที่เจ้าหน้าที่คนนี้ได้เลย ไลน์ ID: 0629905712

4) ในข้อ (ช) อัตราค่าบริการ ขอให้อาสาประจำแต่ละแหล่งท่องเที่ยวในทั้ง 3 แห่ง เร่งประชุมเพื่อหามติที่ประชุม มาเสนอต่ออุทยานในเบื้องต้น เพื่อที่อุทยานจะได้ทราบหรืออาจจะแก้ไข แล้วให้ตัวแทนอาสาไปแจ้งอาสา เพื่อหามติที่ประชุมอีกครั้ง

5) สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นอาสาหรือไม่เคยเป็นอาสา หากต้องการเป็นผู้นำเที่ยวท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวของอุทยาน ให้ดำเนินการสมัคร ตามที่แจ้งไป

เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางสำนักให้ถือปฏิบัติ ต้องขออภัยหากท่านใดไม่สะดวกดำเนินการตามที่แจ้งได้ และขอฝากให้ประชาสัมพันธ์แจ้งต่อ ๆ กันไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้ตั้งข้อสงสัยถึงกรณีดังกล่าวนี้เป็นความผิดพลาดของใคร เพราะอุทยานเป็นผู้เปิดจัดอบรมไกด์ด้วยตนเอง เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็ยังเปิดอบรมรุ่นที่สองตามมา จึงมีคำถามว่าตอนนั้นทำไมไม่กล่าวถึงระเบียบข้อบังคับใดๆ ตอนนี้กลับงัดราชกิจจานุเบกษาฯขึ้นมาอ้าง จึงมีความหวั่นวิตกว่าเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการด้านไกด์ เพราะมีข่าวหนาหูว่านักธุรกิจในพื้นที่ได้เตรียมเข้ามาบริหารจัดการ โดยจะเปิดเป็นรูปแบบบริษัท ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสอบถามหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูลังกาตามเบอร์โทรศัพท์ที่เคยให้ไว้ ปรากฏว่าไม่มีคนรับสาย จึงอยากให้ออกมาชี้แจงเหตุผลแก่สาธารณะถึงเรื่องดังกล่าวด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน