X

สภาอุตสาหกรรมนครพนม ห่วงค้าชายแดนพังจากพิษโควิด ยอดส่งออกลดฮวบ

สภาอุตสาหกรรมนครพนม ห่วงค้าชายแดนพังจากพิษโควิด ยอดส่งออกลดฮวบ ดันท่าเรือหวุงอ๋างเวียดนามเชื่อมชินโจวของจีน ชี้คุณภาพประหยัด ระยะทางสั้น และขนส่งถึงไว

วันที่ 7 เมษายน 2565 ณ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม ถนนอภิบาลบัญชา เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายอานุภาพ แสนคำ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ฝ่ายการค้าชายแดน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบหนักต่อการค้าชายแดนในพื้นที่นครพนม เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าทางบก มากสุดคือส่งออกประเภทผลไม้ไปประเทศจีน โดยมียอดมูลค่าการส่งออกปีละกว่าแสนล้านบาท

โดยมีเส้นทางหลัก 3 สาย คือ เส้นทาง R 3 A (ด่านเชียงของ จ.เชียงราย และด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ) มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ 1.พืชผัก 2.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 3.ผลไม้แปรรูปต่างๆ 4.เครื่องเทศและสมุนไพร 5.สินค้าอุปโภค-บริโภค ส่วน R 9 คือเส้นทางที่ขึ้นจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร- สะหวันนะเขต) เชื่อมไปยังด่านลาวบาว ประเทศเวียดนาม ถึงชายแดนประเทศจีนที่ด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งเป็นด่านพรมแดนสากลของจีนอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และสำคัญที่สุดคือเส้นทาง R 12 จากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นทางคมนาคมขนส่งที่ตัดตรงและมีระยะทางใกล้ที่สุด โดยวิ่งผ่านสปป.ลาว-เวียดนาม-มณฑลกว่างสี (จีนตอนใต้) จึงทำให้ถนนสายนี้เป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ สินค้าเกษตร และโคมีชีวิต

โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้มีมูลค่าปีละกว่า 1.2 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นช่องทางส่งออกผลไม้มากสุดของไทย แต่ปัจจุบันผลกระทบจากโควิดพบว่ายอดการส่งออกสินค้ามีมูลค่าลดลงเกินครึ่ง ทำให้ผลไม้ตกลงมาเป็นอันดับสอง ปัจจุบันอันดับหนึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง สาเหตุหลักเกิดจากทางการจีน มีการเข้มงวดด่านนำเข้าทั้ง 10 ด่าน คือ โหย่วอี้กวน โม่ฮานตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮานเหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่าและสุยโข่ว เป็นการควบคุมเกี่ยวกับรถขนส่ง พนักงานขนส่ง จึงกระทบการนำเข้าผลไม้ จากเคยนำเข้าวันละประมาณ 150-200 คัน เหลือวันละ 10-20 คัน และต้องรอขั้นตอนคัดกรอง บางด่านปิดนำเข้าสินค้าโดยไม่มีกำหนด จึงส่งผลกระทบด้านระยะเวลาขนส่ง ผลไม้ได้รับความเสียหายไปเต็มๆ จากเคยบรรทุก 5 -7 วันก็ถึงจีน เพิ่มเป็น 10-15 วัน ทำให้ผู้ประกอบการแบกภาระจากการย้ายการขนส่งไปทางอากาศ รวมถึงทางเรือ

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมนครพนม ได้หารือกับทางจังหวัดนครพนม ศุลกากร พาณิชย์จังหวัดนครพนม รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ในการวางแผนรับมือแก้ไขปัญหาในการเจรจา เพื่อใช้เส้นทางอื่นแทนในการขนส่งผลไม้ คือเส้นทางจากชายแดนนครพนม R 12 เชื่อมไปยังลาวถึงด่านจอลอ จังหวัดกวางบิงห์ ประเทศเวียดนาม เข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ในจังหวัดฮาติงห์ จากนั้นขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือไปยังท่าเรือชินโจวของประเทศจีน ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนมมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้พอสมควร เพราะระยะทางจะสั้น จึงอยากผลักดันเจรจากับทางภาครัฐของไทย รวมถึง ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ชดเชยการขนส่งทางบก
นายอานุภาพ แสนคำ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยอีกว่า ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากการลดการส่งผลไม้จากจีน แน่นอนที่สุดถึงแม้ จ.นครพนม ไม่ใช่ฐานการผลิตผลไม้เป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ กระทบภาพรวมการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจ ทั้งการค้าขายอาหาร สินค้าจำเป็น รวมถึง ผู้ประกอบการปั้มน้ำมัน เพราะมีรถบรรทุกสินค้า แรงงาน พนักงาน จำนวนมากผ่านเข้ามาในพื้นที่ การทำคลังสินค้าในพื้นที่ลดลง ส่วนการเปิดรถไฟลาว-จีน ยอมรับว่าอาจจะมีผู้ประกอบการบางส่วน ที่หันไปใช้บริการขนส่ง แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาต้นทุนยังสูง แต่หากมีค่าใช้จ่ายเท่ากับเส้นทางปกติ คาดว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนเส้นทางแน่นอน ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมจึงต้องผลักดันให้เกิดการขนส่งทางเรือไปทางเวียดนามเข้าจีน เพื่อชดเชยเส้นทาง R 12 ที่เกิดปัญหา


นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย เกี่ยวกับด่านจุดผ่อนปรนในพื้นที่ 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง,ท่าอุเทน,อ.เมืองฯ มี 2 จุด และ อ.ธาตุพนม รวม 5 จุด ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน ที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนคึกคักมาตลอด แต่ถูกสั่งปิดมานานร่วม 2 ปี ส่งผลกระทบเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถที่จะส่งสินค้าผ่านด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ได้ทั้งหมด โดยล่าสุดทางสภาอุตสาหกรรมได้ เร่งหารือทางจังหวัดหน่วยงานเกี่ยวข้อง เจรจากับทางการลาว เพื่อพิจารณาเปิดด่านจุดผ่อนปรนกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้จะเป็นแค่การขนส่งสินค้า แต่มองว่าสิ่งที่ตามมาคือการค้าในพื้นที่ ตัวเลขเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ประกอบการเรือ แรงงาน ผู้ประกอบการรายย่อย หลังได้รับผลกระทบมานาน เพราะสินค้า เครื่องอุปโภค-บริโภค ในประเทศลาวส่วนใหญ่ส่งข้ามไปจาก จ.นครพนม เกือบทั้งหมด เชื่อว่าในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถหารือช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเจรจาเปิดด่านจุดผ่อนปรนได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาการค้าชายแดนกระทบหนักเศรษฐกิจพังแน่นอน อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญระดับรัฐบาลต้องรับทราบปัญหานำไปแก้ไขอย่างจริงจัง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน