X

ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำมอบตราสัญลักษณ์พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “นาหว้าโมเดล”

ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำมอบตราสัญลักษณ์พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “นาหว้าโมเดล” หนุนกลุ่มอาชีพศูนย์ศิลปาชีพ ในสมเด็จ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปะชีพ เฉลิมพระเกียรติ ครบ 90 พรรษา

วันที่ 9 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมป์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางรติรส จุลชาต ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ โดยในครั้งนี้ได้ประกอบพิธีมอบตราสัญลักษณ์พระราชทานนาหว้าโมเดล รวมถึงมอบกี่ทอผ้าพระราชทาน ให้กับกลุ่มอาชีพทอผ้า 3 กลุ่ม ได้แก่  ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์,กลุ่มเกษตรกรทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ และ กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อ.นาหว้า สร้างความซาบซึ้งปลาบปลื้มยินดีให้กับชาว จ.นครพนม เป็นอย่างมาก

สำหรับตราสัญลักษณ์ โครงการ “นาหว้าโมเดล” มีแนวคิดในการออกแบบด้วยการนำภาพดอกจานที่เป็นดอกไม้พื้นถิ่นแถบอีสานเหนือมาจัดวางให้เป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่เปล่งประกายสดใส สืบเนื่องจากวันที่ 23 มกราคม 2565 เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเยี่ยมบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกจานเริ่มบานสะพรั่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการพัฒนารูปแบบใหม่

ทั้งนี้ ภาพดอกจาน 10 กลีบ สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีการออกแบบรัศมีดอกจานให้วนขวา เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและความเป็นมงคล ส่วนตัวอักษร S สองตัวตรงกลาง หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้พระราชทานโครงการศิลปาชีพฯ ให้แก่ปวงชนชาวไทย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ผู้สืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการศิลปาชีพฯ และภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน และใช้โครงสร้างสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสีส้มที่สดใสของดอกจานยังหมายถึงความมุ่งมั่นและพลังแห่งการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยก้าวไกลสู่ระดับสากล

ปัจจุบันมีกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่มแรก ในการพัฒนาโครงการ “นาหว้าโมเดล” คือ ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว หมู่ที่ 2 ตำบลนางัว  กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า หมู่ที่ 3 ตำบลนาหว้า  และกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อำเภอนาหว้า

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนทอผ้าที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้า ตลอดจนองค์ความรู้ เทคนิคและวิธีการเกี่ยวกับเส้นใย สีธรรมชาติ ไปจนถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ที่สามารถนำไปออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทย ทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนเป็นการพัฒนาชุมชนต้นแบบ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ  มูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทรงเห็นว่าพสกนิกรส่วนใหญ่ ที่เป็นเกษตรกรฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก จึงได้ทรงนำเอาสิ่งที่ทอดพระเนตรเห็น คือผ้าทอที่พสกนิกรสวมใส่มารับเสด็จ ในแต่ละครั้ง ที่มีความสวยงาม มีลวดลาย มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันตามภูมิสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น มาขับเคลื่อนส่งเสริมเพื่อให้พสกนิกรมีอาชีพ มีรายได้ ทั้งทรงช่วยหาช่องทางจำหน่ายนำรายได้คืนสู่ครอบครัวของพสกนิกรผู้ทอผ้าในถิ่นต่าง ๆ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ ขึ้นมาเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515  ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม อีกทั้งยังทรงมีพระประสงค์ที่จะอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยงานด้านศิลปาชีพ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จตาม”สมเด็จย่า” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมสมาชิกศิลปาชีพในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงรับรู้ว่าสมเด็จย่าทรงให้ความสำคัญการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน และพระองค์ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท ทรงสานต่องานด้านศิลปหัตถศิลป์ ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถักทอด้วยฝีมือ ทรงมีพระทัยอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมอาชีพกลุ่มทอผ้าในทุกภาคที่ก่อเกิดขึ้นจากสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน และสานต่อด้านการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองอันทรงคุณค่ายิ่งไว้บนผืนแผ่นดินไทยสืบต่อไป

โดยทรงนำประสบการณ์ ทั้งจากการทรงงาน และทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภาค ที่ทรงตามเสด็จโดยสมเด็จย่า แล้วทรงนำแนวคิดมาพัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยยังคงลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละภาคนั้นๆไว้ และทรงพระราชทานแบบลายผ้าเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้าและผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน