ดีเดย์วันแรงงานเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ด่านท่าเรือนครพนมยังเหมือนเดิม รอเอกสารยืนยันจากทางการลาว ปชช+นทท.สนใจแวะสอบถามการข้ามฟาก
สืบเนื่อง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดนให้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลผ่านช่องทางผ่านแดนทางบก และให้พิจารณาเปิดด่านผ่านแดนถาวรทางบก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 เป็นต้นไปแบบเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลนั้น เบื้องต้นอนุมัติ 17 จังหวัดชายแดน ได้แก่ 1.เลย 2.นครพนม 3.หนองคาย 4.มุกดาหาร 5.บึงกาฬ 6.ศรีสะเกษ 7.สุรินทร์ 8.สระแก้ว 9.จันทบุรี 10.ตราด 11.ตาก 12.กาญจนบุรี 13.ระนอง 14.สงขลา 15.นราธิวาส 16.ยะลา และ 17.สตูล ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุด วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของประกาศมาตรการปลดล็อกเปิดประเทศ พื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่มาตรการทางด้านสาธารณสุข 5 ด้านหลัก ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริเวณท่าเทียบเรือการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองนครพนม หรือท่าด่าน ถนนสุนทรวิจิตร มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม (ตม.ฯ) ที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าเทียบเรือการท่องเที่ยวฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานอื่นเข้าประจำการแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันที่โป๊ะท่าเทียบเรือริมแม่น้ำโขง มีเรือยนต์ข้ามฟากจำนวน 2 ลำจอดเคียงข้างกัน ทราบจากนายนภดล สุคนธา หรือเอ๋ คนขับเรือข้ามฟากรับจ้าง ว่า ประกอบอาชีพขับเรือมากว่า 8 ปี มีใบอนุญาตถูกต้องทุกอย่าง มีรายได้วันละประมาณ 500 บาท หลังเกิดสถานการณ์โรคโควิดระบาดก็ว่างงาน เมื่อทราบจากเถ้าแก่ว่าจะเปิดท่าด่านในวันที่ 1 พ.ค.65 รู้สึกดีใจที่กลับมาทำหน้าที่นี้อีกครั้ง ก็มาตรวจเช็คเครื่องยนต์เพื่อรองรับการเดินทางข้ามฟากอย่างเต็มที่ ถึงเวลานี้ก็ไม่มีอะไรเพราะทางฝั่งประเทศลาวยังไม่มีคำสั่งให้เปิด
ผู้สื่อข่าวทราบจากผู้เกี่ยวข้อง ว่า ทางแขวงคำม่วน(เมืองท่าแขก) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม โดยตามขั้นตอนต้องรอคำสั่งจากนครหลวงเวียงจันทน์ส่งมายังเจ้าแขวง จากนั้นก็จะมีการประชุมกันอีกครั้งเกี่ยวกับมาตรการอื่นๆ หลังตกผลึกแล้วถึงจะมีเอกสารออกมาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น บรรยากาศบริเวณท่าด่านจึงยังคงเงียบเหงา มีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนกับผู้ใช้แรงงานที่เฝ้ารอการเปิดด่าน และมีประชาชน นักท่องเที่ยวแวะมาสอบถามรายละเอียดกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 44 ) ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่คลี่คลายลง จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อ และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในจำนวนที่ลดลง อีกทั้งประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณยาและเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤตอยู่ในระดับเพียงพอ
อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของฝ่ายสาธารณสุขและพนักงานเจ้าหน้าที่ ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประกอบกับข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขได้รายงานว่า ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหรือเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว แม้จะตรวจพบผู้ติดเชื้ออยู่บ้างแต่ก็มีจำนวนน้อยและสามารถควบคุมได้ จึงมิได้เป็นปัจจัยที่มีผลให้การติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่หลายประเทศได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรค และเปิดประเทศควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ และเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงได้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม
สาระสำคัญ คำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนกการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค
สาระสำคัญ ยังห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
ข้อ 3 การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
สาระสำคัญ อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจากไม่เกิน 23.00 น. เพิ่มเป็นไม่เกิน 24.00 น.หรือเที่ยงคืน แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่านมาการประเมินมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus หรือตามมาตรการ COVID Free Setting
ข้อ 4 การปรับปรุงการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
สาระสำคัญ
1.ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งแสดงหลักฐานการรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนหรือที่ทางราชการกำหนด(Vaccinated Persons)
2.ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมิได้แสดงหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนหรือที่ทางราชการกำหนด (Unvaccinated/ Not FullyVaccinated Persons)
3.ผู้มีเหตุยกเว้นที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดอนุญาต หรือเชิญเข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็น
ข้อ 5 การเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565
สาระสำคัญ ให้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 โดยให้กำกับ ติดตาม เฝ้าระวังตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อมุ่งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: