นครพนม – วิสาหกิจผู้เลี้ยงโคเนื้อโพนสวรรค์ รวมกลุ่มพัฒนาผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดต้นทุนมากถึง 40 % ด้านนายอำเภอไอเดียเจ๋ง เตรียมสร้างแบรนด์การันตีคุณภาพ
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ บ้านนาน้ำคำ หมู่ 9 ต.นาขมิ้น อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (ผอ.บพท.) นายธานินทร์ ผะเอม ประธานแผนงานชุมชนนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วย คณะผู้ทรงวุฒิ ตลอดจนภาคีเครือข่าย ได้แก่ ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ปศุสัตว์อำเภอโพนสวรรค์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม อบต.นาขมิ้น และ อบต.นาใน ตรวจติดตามผลการดำเนินโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2564 (รอบ 9 เดือน)
โดยมี นายนิพพิชฌน์ อติอนวรรตน์ นายอำเภอโพนสวรรค์, นายอาทิตย์ คาระวงค์ ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ บ้านนาน้ำคำ หมู่ 9 และตัวแทนนวัตกรชุมชน ร่วมให้การต้อนรับ
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
สำหรับโครงการ “การพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรในท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครพนม” มี ผศ.ดร.กัมปนาจ เภสัชชา อาจารย์สาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นหัวหน้าชุด
นายอาทิตย์ คาระวงค์ ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ บ้านนาน้ำคำ หมู่ 9 ต.นาขมิ้น กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มฯ ว่า เกิดจากการรวมตัวของคนรักอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อในหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2559 สมาชิก 10 คนมีโคเนื้อรวมกัน 30 ตัว เลี้ยงดูตามวิถีชาวบ้านทั่วไป ปรากฏว่าโคที่เลี้ยงไม่โตตามที่ต้องการกลับมีสภาพผอม
กระทั่งได้พบกับ ผศ.ดร.กัมปนาจ เภสัชชา จึงได้รับคำแนะนำ พัฒนาการเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน โคก็ฟื้นตัวมีรูปร่างอวบท้วมขึ้น จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมในการพัฒนาโคเนื้อ ใช้เวลาแค่ 6 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 65 คน โคเนื้อประมาณ 640 ตัว เกษตรกรที่เป็นสมาชิกส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนาและปลูกสับปะรดหวาน ในบางปีราคาข้าวตกต่ำ การเลี้ยงโคเนื้อจึงเป็นอีกอาชีพที่มาช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ กล่าวต่อว่า กิจกรรมของกลุ่ม ประกอบด้วย การลี้ยงโคแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกโคจำหน่าย กิจกรรมการผลิตโคขุน โดยกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคแม่พันธุ์โคที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ผสม การผลิตลูกโคผสมสายเลือดยุโรปหรือโคเขตหนาว (Bos taurus) โดยนำแม่โคลูกผสมพันธุ์พื้นเมือง ผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์หรือผสมเทียมกับพันธุ์อื่น เช่น พันธุ์ชาร์โลเล่ส์ พันธุ์แบงกัส พันธุ์วากิว พันธุ์ซิมเมนทอล เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่จะผสมเพื่อเอาลูกตัวเมียไว้เป็นแม่พันธุ์และขยายพันธุ์ต่อไป ส่วนลูกตัวผู้เลี้ยงขุนให้มีขนาดและน้ำหนักที่ตลาดต้องการ เพื่อขายให้สหกรณ์การเกษตรโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ในปัจจุบันโคเนื้อมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความสนใจและหันมาเลี้ยงโคเนื้อเพิ่มมากขึ้น สำหรับฟาร์มของตนเองมีเนื้อที่กว่า 40 ไร่ จึงมีพื้นที่กว้างสามารถเลี้ยง ดูแล โคเนื้อให้อยู่อย่างไม่แออัด
ด้าน ผศ.ดร.กัมปนาจ เภสัชชา ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการ “การพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรในท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครพนม” เปิดเผยว่า โครงการวิจัยฯ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่
โครงการวิจัยย่อยที่ 1 นวัตกรรมการผลิตอาหารโคเนื้อ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทาง การแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดนครพนม
และโครงการวิจัยย่อยที่ 2 นวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครพนม
ผศ.ดร.กัมปนาจ กล่าวต่อว่า โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ และการสร้างมูลค่าการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในจังหวัดฯ ซึ่งเป็นกระบวนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของชุมชน เพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชุมชน
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างแนวทางขยายผลการพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ การสร้างมูลค่าการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กลไกความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย การสร้าง Learning and lnnovation Platform (สร้างนักวิจัยชาวบ้าน/นวัตกรชาวบ้าน ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย และได้นวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาของชุมชน/ตำบล/ท้องถิ่นที่สามารถเชื่อมต่อกับแผนพัฒนาจังหวัด)
และสร้างนวัตกรชุมชนให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและคนในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญ เกษตรกรมีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน
โดยกลุ่มเกษตรกรได้เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับคณะผู้วิจัย โดยนวัตกรรมที่ได้เรียนรูแล้วนำไปปรับใช้ ได้แก่ การผลิตอาหารข้นผสมใช้เองภายในฟาร์มโดยใช้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่นและผลพลอยได้ทางการเกษตรและเศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในแต่ละฤดูกาลให้มีความเหมาะสม การผลิตอาหารหมักคุณภาพสูง เป็นต้น
อาจารย์สาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี ม.นครพนม กล่าวต่อว่า การดำเนินงานได้เกิดการสร้างเครือข่ายด้านการผลิตโคเนื้อ และวัตถุดิบสำหรับนำมาทำเป็นอาหารโคเนื้อ เช่น เครือข่ายผลิตมันสำปะหลัง เครือข่ายผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถผลิตอาหารใช้เองภายในฟาร์ม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รำข้าว มันสำปะหลัง ฟางข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลพลอยได้ทางการเกษตรอื่น ๆ ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านอาหารอย่างน้อย 20-30 เปอร์เซ็นต์ เช่น
นายอาทิตย์ คาระวงค์ ประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เดิมมีต้นทุนการผลิตเดือนละ 100,000 บาท เมื่อนำความรู้ที่ได้มาปรับเปลี่ยนผลิตอาหารใช้เอง ปรากฏว่ามีต้นทุนลดลงเหลือเพียงเดือน 40,000 บาทเท่านั้น
ด้านนายนิพพิชฌน์ อติอนวรรตน์ นายอำเภอโพนสวรรค์ เปิดเผยว่า กลางเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ จะมีการตกผลึกในการคัดเลือกผู้ประกวดโลโก้ผลิตภัณฑ์สินค้าของอำเภอโพนสวรรค์ เพื่อนำโลโก้ดังกล่าวไปติดบนสินค้าที่เป็นของชาวอำเภอโพนสวรรค์ การันตีว่าเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพได้มาตรฐานจากชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากพื้นที่โพนสวรรค์ถูกนำไปรวมกับผลิตภัณฑ์ต่างอำเภอ ผู้บริโภคจึงไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์คุณภาพชิ้นนั้นอยู่ในพื้นที่นี้
ทั้งนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นองค์กรของรัฐ ขึ้นกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีหน้าที่สำคัญ เช่น จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: