เกษตรจังหวัดนครพนม เตือนภัยชาวสวน หวั่น”แมลงดำหนามมะพร้าว”เข้าทำลาย แนะเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง พร้อมให้คำแนะนำและวิธีกำจัด
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พบการเข้าทำลายของแมลงดำหนามมะพร้าว ที่ทำให้ต้นมะพร้าวของเกษตรกรได้รับความเสียหาย สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครพนม มีเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวในหลายอำเภอ ทั้งชนิด มะพร้าวแกง และมะพร้าวน้ำหอม จึงขอแจ้งข้อมูลเตือนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวให้เฝ้าระวัง เนื่องจากบางพื้นที่พบการเข้าทำลาย ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจต้นมะพร้าวและเฝ้าระวังการระบาดของโรคเมื่อเริ่มพบใบมะพร้าวแห้งเหี่ยวสีน้ำตาล ให้เตรียมการป้องกันหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อหาทางควบคุมป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ โดยซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่ และจะย้ายไปกินใบอ่อนอีกใบหลังจากที่ใบเดิมคลี่ออก ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงหลายๆ ใบในแต่ละต้นจะมองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน ซึ่งชาวสวนมะพร้าว เรียกว่า “โรคหัวหงอก” ระยะตัวหนอนสำคัญที่สุด เพราะทำลายได้รุนแรงกว่าตัวเต็มวัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้งและขาดน้ำ
กรณีเริ่มพบการระบาด ต้นมะพร้าวมีทางใบ ยอด ที่ถูกทำลายตั้งแต่ 1 – 5 ใบ โดยให้ควบคุมการระบาด ดังนี้ 1.ใช้วิธีตัดยอดที่ถูกทำลาย เก็บไข่ และตัวหนอน ไปทำลาย 2.ไม่เคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวจากแหล่งที่มีการระบาดไปยังแหล่งที่ไม่มีการระบาดไปยังแหล่งที่ไม่มีการระบาด 3.ใช้ตัวห้ำและตัวเบียนในมะพร้าวต้นต่ำกว่า 12 เมตร 3.1 ปล่อยแมลงหางหนีบ บริเวณยอดมะพร้าว อัตรา 50 ตัวต่อยอดเพื่อกำจัดหนอนและดักแด้แมลงดำหนาม 3.2 ปล่อยแตนเบียน อะซีโคดีส ฮิสพินารัม และแตนเบียนเตตระสติคัส บรอนทิสปี้ อัตรา5 – 10 ตัวต่อไร่ 4. แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว (Asecodeshipinarum) ช่วยทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว พฤติกรรมการเข้าทำลายของแตนเบียน เกิดจากเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในลำตัวของหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว หนอนแตนเบียนที่เกิดขึ้นภายในตัวแมลงดำหนามมะพร้าวฟักออกเป็นไข่ดูดกินของเหลว แล้วเข้าทำลายตัวแมลงในที่สุด ระยะการเจริญหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวถูกแตนเบียนทำลาย เติบโตตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัยประมาณ 17-20 วัน ปล่อยแตนเบียนอะซิโคเดส อัตรา 5 กก./ไร่ 5.ใช้สารเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็ว เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85% wp) อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นในแปลงเพาะกล้าพืชตระกูลปาล์มก่อนการเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่มีการระบาดทุกครั้ง
หากเกษตรกรพบการเข้าทำลาย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: