สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เชิญ “อุปนายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครพนม” เสวนาโครงการสื่อสารทางวิชาการ ”บทบาทสื่อมวลชนฯ” เพื่อพัฒนาการทำงานด้านสื่อ
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เนื่องด้วยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชมรมสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท (สื่อบ้านนอก) และ มูลนิธิปัญญาวุฒิ ได้จัดงานการสื่อสารทางวิชาการ “บทบาทสื่อมวลชนกับการสืบสาน รักษา และต่อยอด งานพัฒนาด้วยความรู้จากงานวิจัยระดับพื้นที่” โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการทำงานพัฒนา การตรวจทานข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานพัฒนาได้ตรงเป้าหมาย ลดช่องว่างของการเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงข้อมูลเพื่อการพัฒนาและสื่อสารให้เกิดประโยชน์
ดังนั้น สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้พิจารณาเห็นว่าสมาคมนักข่าวจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นองค์กรสื่อเอกชนเพียงแห่งเดียวในจังหวัดนครพนม มีผู้สื่อข่าวที่มีความรู้ความสามารถในการที่จะเข้าถึงและใช้ข้อมูลเพื่อสื่อสารในการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ได้ดี
โดยได้คัดเลือกสื่อมวลชนประจำท้องถิ่นภูมิภาคละ 1 คน ประกอบด้วยคุณมูฮัมมัดอายุป ปาทาน อดีตบรรณาธิการผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา คุณสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการบริหารสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย คุณวริษฐา ภักดี บรรณาธิการบริหารลานนาโพสต์ออนไลน์ จังหวัดลำปาง และคุณพงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล อุปนายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครพนม เป็นผู้ร่วมเสวนาฯ ดำเนินรายการโดยคุณสุปัน รักเชื้อ ผู้จัดรายการ”เสาร์เสวนา” วิทยุ FM 96.5 อสมท. สามารถชมผ่านการถ่ายทอดสดทาง ยูทูป เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊กของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชมรมสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท (สื่อบ้านนอก) มูลนิธิปัญญาวุฒิ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และขยายต่อทาง FM 105 กรมประชาสัมพันธ์ ,FM 96.5 อสมท. และ FM 96 ตามวันและเวลาดังกล่าว
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมุ่งเน้นงานในด้านการพัฒนาจากฐานราก เพื่อลดช่องว่างของการเหลื่อมล้ำในสังคม งบประมาณและคนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ได้ระดมสรรพกำลังเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่คำถามที่ตามมาคือเราพัฒนาอะไร ข้อมูลการพัฒนาเราเอามาจากไหน เป็นข้อมูลที่เที่ยงตรงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาได้จริงหรือไม่ สื่อมวลชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารการทำงานพัฒนา และสะท้อนถึงความสำเร็จหรือล้มเหลว ที่จะนำไปสู่การขยายการทำงาน และการรับรู้ของสังคมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง คือ“ข้อมูลชัด พัฒนาตรงกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนยิ้มได้” สามารถเข้าถึงข้อมูลและงานในการพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน จึงเป็นคำถามของสังคมโดยรวมและสื่อมวลชนมาโดยตลอด จึงได้เกิดโครงการสื่อสารทางวิชาการ เกี่ยวกับบทบาทสื่อมวลชนกับการสืบสานรักษาและต่อยอด งานพัฒนาด้วยความรู้จากงานวิจัยระดับพื้นที่หลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ขึ้นมา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: