X

“หมกเจาะ+ซั้วไก่ท่าอุเทน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชนเผ่าไทญ้อนครพนม

“หมกเจาะ+ซั้วไก่ท่าอุเทน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชนเผ่าไทญ้อนครพนม มูลนิธิศรีโคตรบูรสนับสนุนสืบทอดหวั่นเลือนหาย

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดป่าโพธิ์ศรี ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (นครพนม-ท่าอุเทน) เขตเทศบาลเมืองท่าอุเทน จ.นครพนม นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม นำคณะลงพื้นที่ร่วมในโครงการสืบทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การทำหมกจ้อหรือหมกเจาะและต้มซั้วไก่ อาหารพื้นบ้านของชนเผ่าไทญ้อ(ย้อ) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก นางสุภาภรณ์ นิรมาณการย์ ประธานมูลนิธิศรีโคตรบูร มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมการทำอาหารพื้นบ้านชนเผ่าไทญ้อกว่า 30 คน ที่นำโดยนางพรรณิภา มีธรรม ประธานชมรมคลังสอง และ กรมกิจการผู้สูงอายุ

พระครูพิพัฒน์สิริโพธิ เจ้าอาวาสวัดป่าโพธิ์ศรี และ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าอุเทน กล่าวกับผู้เข้าอบรมว่า ตนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชนเผ่าไทญ้อ จึงรู้จักอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมคือหมกจ้อหรือหมกเจาะและซั้วไก่เป็นอย่างดี เดิมบรรพบุรุษจะใช้ปลาตอง(ปลากราย) หรือปลาสลาด มาตำคลุกเคล้าผสมเครื่องปรุง ห่อด้วยผักม้วนหรือผักนางเลิศ(ภาษากลางเรียกใบชะพลู)แล้วนำไปนึ่ง จะมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศฟุ้งทั่วบ้าน ส่วนซั้วไก่ก็ใช้ไก่พื้นบ้านนำมาต้มแล้วฉีก ใส่เครื่องปรุงเช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม พริกเม็ดเล็ก ผักแพว น้ำมะนาว ต้นหอม และผักชีฝรั่ง

ภายหลังมีการดัดแปลงอย่างหมกเจาะก็ไปเอาปลาชนิดอื่นมาปรุง รสชาติความเหนียวนุ่มก็หายไป แถมมีกลิ่นคาวแรงมาก ต้มซั้วไก่ก็หันไปเอาไก่พันธุ์มาแทน ทุกอย่างเลยเปลี่ยนแปลงไปหมด การจัดโครงการสืบทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ด้วยการอนุรักษ์อาหารดั้งเดิมของเผ่าไทญ้อถือว่าเป็นเรื่องดี สูตรเก่าแก่สมัยบรรพบุรุษจะได้ไม่เสื่อมหายไปกับวัฒนธรรมสมัยใหม่

ด้าน นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าการนำคณะมาสัญจรนอกพื้นที่ เพื่อเสวนาโสเล่ (วิพากษ์  วิจารณ์ การพูดคุย) แล้วทางสภาวัฒนธรรมฯก็จะหารือเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งสภาวัฒนธรรมฯจะสัญจรให้ครบ 12 อำเภอ

ทั้งนี้ วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่นบางส่วนกำลังสูญหายไป โดยเฉพาะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนสำคัญของชุมชน ท้องถิ่น และสังคมไทย ประกอบกับองค์การยูเนสโก( UNESCO) เห็นความจำเป็นในการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ค.ศ.2003 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากนานาประเทศ รัฐบาลไทยก็ได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 รวมทั้งร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.2003 เพื่อเป็นการส่งเสริมและรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

นายคมสินกล่าวต่อว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ มีอยู่ด้วยกัน 5 เอฟ(F) 1.Food(อาหาร) 2.Festival(ประเพณี) 3.Fashion (การแต่งกาย) 4.Film(การบันทึก) 5.Fighting (การต่อสู้)

สำหรับประวัติความเป็นมาของชาวไทย้อ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาวหรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง ไทย้อส่วนใหญ่ได้อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2351 โดยตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนมในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2369 พวกไทย้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไปแล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่งต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนเมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนมในปัจจุบัน ส่วนคำว่าท่าอุเทน  แปลว่าท่ารุ่งอรุณที่ปราศจากหมอก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน