นครพนม – “OTOP โอทอป”เปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมาระบบเก่า ทำกันอยู่เพียงด้านเดียวคือ “ด้านหัว” ขยายความดังนี้ “สินค้าโอทอปที่มีคุณภาพ” จะต้องผ่านมาตรฐานของรัฐ โดยผ่านการคัดสรรสุดยอดโอทอป ตรวจสอบทั่วประเทศมีจำนวน 15,000 ราย แต่มีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนอยู่ประมาณ 80,000 กว่าราย ทำให้มีสินค้าโอทอปที่ตกเกณฑ์ถึง 70,000 ราย
แต่นับต่อจากนี้ไป รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเริ่มทำเหรียญด้านที่สอง คือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นแนวคิดพัฒนา OTOP ในรูปแบบใหม่ โดยให้ขายสินค้าอยู่ภายในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน นำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์มาแปลงเป็นรายได้ ทำให้รายได้กระจายอยู่ภายในชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และทุกคนพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ทำให้ลูกหลานไม่ต้องออกไปหารายได้จากภายนอกชุมชน ซึ่งแตกต่างจาก OTOP แบบเดิมๆ ที่ต้องนำสินค้าออกไปขายนอกชุมชน และทุกอย่างขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ
ข่าวน่าสนใจ:
- สจ.เปี๊ยกไม่ปลื้ม นายกไก่เปลี่ยนใจยอมสยบฉายแสง สุดท้ายกลายเป็นมาให้กำลังใจ
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
- "นครพนมฮือฮา! งานศพสุดแปลก ใส่ชุดแดงฟ้อนรำส่งดวงวิญญาณ ‘เจ้แข่น’ ปิดตำนานสาวสองแห่งอำเภอนาทม
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
โอทอปรูปแบบใหม่ มีเจ้าภาพหลักของงานนี้คือ “กรมการพัฒนาชุมชน” กระทรวงมหาดไทย โดยรัฐได้ให้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ทุ่มให้กับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยจะคัดเลือกจากชุมชนที่มีศักยภาพใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ (อำเภอละ 3-5 แหล่งท่องเที่ยว) พร้อมส่งบุคลากรเข้าไปสร้างความเข้าใจกับชุมชน ทั้งช่วยวิเคราะห์ มนต์เสน่ห์วิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ของชุมชนนั้นๆ โดยกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว ต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการค้าต่อนักท่องเที่ยว
หลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ คือ พิจารณาศักยภาพของชุมชน ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว ต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้น พิจารณาถึงการเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวหลัก คือ 22 เมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยวรอง คือ 55 เมืองรอง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเล็ก คือ ชุมชนท่องเที่ยวที่มีกิจกรรม สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่ส่งเสริมกัน
การดำเนินการต้องไม่เริ่มจากศูนย์ โดยสามารถต่อยอดจากหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวได้ หรือต่อยอดหมู่บ้านที่ได้รับการสนับสุนนจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นต้น ต้องเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอป มีจุดขายที่เป็นเสน่ห์ เช่น ลักษณะทางธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ภูเขา มีประวัติ และตำนาน ต้องมีความเข้มแข็งของชุมชน มีการจัดทำแผนธุรกิจ ปฏิทินท่องเที่ยวของชุมชน ที่ใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล อย่างยั่งยืน
จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนฯ ได้กำหนดจัดกิจกรรม เปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม มีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป้าหมายจำนวน 5 หมู่บ้าน คือ บ้านสุขเจริญ ต.บ้านผึ้ง, บ้านสำราญ ต.อาจสามารถ,บ้านท่าค้อ ต.ท่าค้อ,บ้านนาโดน ต.ขามเฒ่า,และบ้านหนาด ต.บ้านกลาง ทั้ง 5 หมู่บ้านจะได้รับการพัฒนาเป็นไปตามกระบวนการของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่ง นางรัชต์วรรณ ไวยากรณ์ พัฒนาการอำเภอเมืองนครพนม ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน
ประเดิมจากบ้านสุขเจริญเป็นหมู่บ้านแรก เป็นชนเผ่าไทยลาว นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์พระแม่กวาดารูเปย์ เป็นโบสถ์ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปงดงามยิ่งนัก หมู่บ้านแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ชวนให้ใหลหลง เพราะโดดเด่นเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ที่มีการผลิตข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารพิษ 100 % ตรา ”ข้าวสุข” จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง มีประธานชื่อ นางนงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย อดีตสาวพยาบาลที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว และนางนงค์ลักษณ์เคยเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงสองปีติดต่อกัน(2559-60) ปัจจุบันข้าวยี่ห้อนี้กลายเป็นสินค้าแบรนด์เนม OTOP ระดับ 5 ดาว และไม่ใช่โด่งดังเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แม้แต่ต่างประเทศก็ยังรู้จักข้าวหอมมะลิฯตราข้าวสุข สั่งนำเข้าไปบริโภคเดือนละเป็นพันตัน
ถัดมาเป็นหมู่บ้านสำราญ ต.อาจสามารถ อยู่ติดกับริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นชนเผ่าไทยลาว จุดเด่นคือเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติเกี่ยวพันกับ”พระติ้ว พระเทียม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม เล่าสืบทอดต่อกันมาว่าสร้างขึ้นที่วัดสำราญใต้ ก่อนที่จะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในมณฑปวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม จนถึงปัจจุบัน
นอกจาก พระติ้ว พระเทียม แล้ว ยังมีเจ้าพ่อหมื่นซึ่งเสมือนผู้ปกปักรักษาดูแลลูกหลานบ้านสำราญ ก็ถูกอัญเชิญไปในคราวเดียวกันกับพระติ้ว พระเทียม โดยศาลเจ้าพ่อหมื่นอยู่ในอาณาบริเวณวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่คนไทยเชื้อสายจีน ต่างให้ความเคารพศรัทธา จึงมีงานงิ้วเจ้าพ่อหมื่นประจำทุกปี แต่ชาวบ้านสำราญมีความเชื่อว่าเจ้าพ่อหมื่นท่านจะไปๆมาๆ ระหว่างศาลเดิมที่ตั้งริมตลิ่งแม่น้ำโขงบ้านสำราญกับศาลเจ้าในเขตเทศบาลเมืองนครพนม
ภายในวัดสำราญใต้มีพระธาตุเก่าแก่ เชื่อกันว่าสร้างในยุคเดียวกับองค์พระธาตุพนม เดิมมีชื่อว่าพระธาตุทับเงา หรือพระธาตุเงา โดยในตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายืนอยู่กลางแม่น้ำโขง แล้วเงาของพระองค์ทอดมาถึงบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงสร้างพระธาตุทับเงาที่พระพุทธเจ้าทาบมา ต่อมามีการขุดพบใบเสมาโบราณ จารึกอักษรขอม พร้อมกับคำสาปแช่งผู้ที่จะเข้ามาล่วงเกินองค์พระธาตุ ซึ่งกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
และอีก 3 หมู่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่รอยต่อกันในแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง และมีความเชื่อมโยงด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม เริ่มจากหมู่บ้านหนาด ต.บ้านกลาง หมู่บ้านนี้มีสองชนเผ่าอยู่ร่วมกันคือเผ่าภูไทและไทญ้อ อพยพมาจากเมืองเวียงอ่างคำ ประเทศลาว มี“วัดแก่งเมือง” เป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ ซึ่งพบหลักฐานน่าสนใจทางความเชื่อเรื่องหินตั้ง โดยนำหินทรงกลมเป็นแท่งฝังไว้ทั่วบริเวณวัด มีลักษณะเป็นแผ่นหินรูปใบเสมา สร้างจากหินศิลาแลง ไม่มีลวดลายสลัก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดี โดยสังเกตจากลักษณะรูปแบบในการปัก เป็นการปักประจำทิศทั้ง 8 ล้อมรอบแท่งหินลักษณะคล้ายศิวลึงค์ รูปเคารพแทนองค์พระศิวะในศาสนาฮินดู ภายหลังมีการสร้างเจดีย์แก่งเมืองหรือพระธาตุแก่งเมืองไว้ในบริเวณวัด ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านหนาดและชาวพุทธทั่วไป โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2478 นอกจากนี้บ้านหนาดยังเป็นจุดผ่อนปรนตลาดนัดไทย-ลาว ที่อนุญาตให้ชาวลาวเข้ามาซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ในลักษณะเช้ามา – เย็นกลับ และมีเครื่องจักสานที่ขึ้นชื่อ
บ้านท่าค้อ ต.ท่าค้อ เป็นรอยต่อของ ต.บ้านกลาง มีจุดเด่นคือเรื่องราวความเชื่อและศรัทธา เดิมชื่อว่า “บ้านห้วยน้ำแจ่ว(น้ำพริก)” มีตำนานเล่าขานกันว่า ในครั้งโบราณมีการยกทัพต่อสู้เพื่อแย่งหญิงสาว หนุ่มบ้านไกลพาสาวคนรักหลบหนี เตรียมจะพากันข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งประเทศลาว ฝ่ายชายผู้อกหักไล่ตามมาเจอ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น อาวุธที่ใช้ก็คือ “น้ำแจ่ว(น้ำพริก)” สาดใส่ซึ่งกันและกัน ถ้าทางฝ่ายไหนโดนน้ำแจ่วสาดเข้าตา จะมีอาการปวดแสบ มองไม่เห็น ฝ่ายคู่ต่อสู้ก็จะอาศัยจังหวะนั้นใช้มีดและดาบฟันทันที ตำนานเล่าว่าการสู้รบในครั้งนั้น ใช้น้ำแจ่ว (น้ำพริก) จำนวนมากทำให้น้ำแจ่วไหลลงแม่น้ำโขงจนเป็นห้วย จึงได้ขนานนามว่า “ห้วยน้ำแจ่ว” จนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านห้วยน้ำแจ่ว ส่วนมากเป็นพวกลาวพวน และบริเวณริมห้วยจะมี “ต้นค้อ” (ผลไม้ชนิดหนึ่งมีรสเปรี้ยว) ต้นหนึ่ง มีขนาดใหญ่ แผ่กิ่งก้านเป็นที่พักร่มของชาวบ้าน และนำผลมากินกัน ภายหลังจึงพากันขนานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าค้อ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต.ท่าค้อ มีโบราณสถานที่น่าศึกษา เช่น วัดแป้มร้าง หรือวัดแต้มร้าง เชื่อกันว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่มีการย้าย เมืองมรุกขนคร มาสร้างบ้านเมืองใหม่ในบริเวณนี้ รูปทรงของพระธาตุมีความละม้ายคล้ายกับพระธาตุวัดแก่งเมือง บ้านหนาด ต.บ้านกลาง เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนอยู่ในผังสี่เหลี่ยม ส่วนฐานชำรุดไม่ทราบรูปทรงที่แน่ชัด กำลังขอขึ้นทะเบียนต่อกรมศิลปากร ไม่ห่างกันนักเป็นวัดบ้านเมืองเก่า มีศาลเก่าแก่ของ “อัญญาพะไช” อดีตเจ้าเมืองมรุกขนคร คำว่า”อัญญา” สืบเนื่องมาจากอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นคำแทนชื่อเจ้านายอีสานสมัยโบราณปกครอง โดยอัญญา 4 คือ เจ้าเมือง อุปราช ราชบุตร ราชวงศ์
ด้วยบ้านท่าค้อมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง จึงมีวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหาปลา จึงเป็นแหล่งรวมตัวของพรานน้ำโขงขนาดใหญ่ จึงเห็นเรือหาปลาจอดเรียงรายตามชายฝั่งจำนวนมาก และจะได้ปลาสดๆจากแม่น้ำโขงทุกวัน จึงมีแม่ค้ามารอรับซื้อถึงท่าประจำ นอกจากนี้ยังมีสวนสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครพนม อีกด้วย
หมู่บ้านนาโดน ต.ขามเฒ่า เป็นหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี แห่งที่ 5 บ้านหลังสุดท้ายของเขตอำเภอเมืองนครพนม โดดเด่นคือเป็นหมู่บ้าน ที่ปลูกลิ้นจี่มากที่สุดของจังหวัดฯ โดยมีเรื่องราวความเป็นมาของลิ้นจี่ เล่าว่าหลวงปู่จันทร์ เขมิโย พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม ฉันลิ้นจี่ที่ญาติโยมนำมาถวาย รู้สึกชื่นชอบในรสชาติ จึงมอบเมล็ดลิ้นจี่ให้ชาวบ้านนาโดนนำไปปลูก ต่อมาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ พบต้นลิ้นจี่อยู่ในบ้านของเกษตรกรบ้านนาโดน มีลักษณะพิเศษโดดเด่นไม่เหมือนใคร มีรสชาติดี จึงนำมาปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ จนกลายมาเป็นลิ้นจี่ประจำจังหวัด มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า”ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1” มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือมีผลขนาดใหญ่ เปลือกสีแดงอมชมพู มีรูปทรงเหมือนไข่ และเนื้อผลแห้งสีขาวขุ่น เมื่อปอกรับประทานจะได้รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด จึงทำให้ผู้ได้ลิ้มลองติดใจในรสชาติเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งปี 2560 ได้กลายเป็นสินค้าเกษตร GI ตัวแรกของจังหวัดนครพนม ที่ได้รับเครื่องหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปัจจุบันต้นลิ้นจี่ต้นแรกยังคงให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 40 ปีแล้วก็ตาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: