วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่บริเวณประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ลงพื้นที่เยี่ยมและติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปถึงสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยในภาพรวมจังหวัดนครพนมมีปริมาณน้ำฝน เฉลี่ยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 1,009.7 มม. และเมื่อเทียบกับวิกฤติน้ำท่วมในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 61.15 ของช่วงเวลาเดียวกันที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,651.1 มม และปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 110.566 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 70.32% ของปริมาตรน้ำที่สามารถเก็บกักได้ของโครงการชลประทานนครพนมและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ส่วนแนวโน้มน้ำในแม่น้ำโขงยังคงทรงตัว ห่างจุดล้นตลิ่งประมาณ 4.07 เมตร ขณะที่ด้านการเตรียมความพร้อมจังหวัดนครพนมก็ได้มีการวางแผน การดำเนินงานเตรียมเครื่องจักรและเครื่องมือไว้พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุกน้ำ รถขุดตักแบบไฮดรอลิก รถแท็กเตอร์ รถบรรทุกเทท้าย(ดั้ม) เครื่องสูบน้ำและอื่น ๆ รวมถึงบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้
ข่าวน่าสนใจ:
โดยภายหลังรับทราบข้อมูลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารจังหวัดนครพนมทุกฝ่าย ที่ได้มีการวางแผนงานและเตรียมความพร้อมไว้รับมือกับพายุและมรสุมลูกต่าง ๆ ซึ่งคาดการณ์ว่ากว่าจะถึงสิ้นเดือนกันยายนน่าจะมีเข้ามาอีก ดังนั้นจึงอยากให้จังหวัดนครพนมได้นำสถานการณ์ในปีก่อน ๆ มาถอดบทเรียนแล้วนำมาเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันเพิ่มเติมขึ้นไปอีก อย่าได้ประมาท เพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสียเหมือนในตอนที่พายุโพดุลเข้าประเทศไทย ที่ในตอนนั้นมียอดผู้เสียชีวิต 40 กว่าราย โดยได้เน้นย้ำในเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะอย่างอื่นเสียหายสามารถซ่อมแซมปรับปรุงได้ แต่การชีวิตแม้จะได้เงินเยียวยาแต่ก็ไม่คุ้ม ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องดูแลชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดี พร้อมทั้งฝากในเรื่องของการสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจและติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอยากให้มีการฝึกทบทวนแผนงานในการเผชิญเหตุ การใช้เครื่องมือเครื่องจักร และการเข้าช่วยเหลือประชาชนสำหรับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นด่านหน้า เพราะถ้าทุกคนมีความชำนาญเมื่อเกิดเหตุจะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และสุดท้ายหากเกิดเหตุอยากให้ทุกหน่วยเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูและเยี่ยวยาโดยเร็ว มีการตรวจสอบความเสียหายพร้อมเสนอแผนงานโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนในการซ่อมแซมบำรุงรักษาในทันที เพราะไม่อยากให้พื้นที่เสียโอกาสไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: