X

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ประจำจังหวัดนครพนม เชิญถุงยังชีพพระราชทานมอบช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยอำเภอเรณูนคร

วันที่ 27 กันยายน 2565 ที่จังหวัดนครพนม ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอเรณูนคร เป็นผู้แทนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดนครพนม เชิญถุงยังชีพพระราชทาน ไปมอบให้กับนางสาวอนุรักษ์ คำวัน เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นขวัญกำลังใจ ภายหลังบ้านที่อยู่อาศัยเลขที่ 56 หมู่ที่ 6 ตำบลเรณูใต้ อำเภอเรณูนคร เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรทำให้บ้านไม้ 2 ชั้นไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง รวมทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 เวลา 12.00 น. โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้มีจิตอันเป็นกุศลร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย
ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอเรณูนคร เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ทรงต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและผ่อนคลายความทุกข์ร้อน อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประสบอัคคีภัยในครั้งนี้ ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยความเข้มแข็ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดนครพนม เชิญถุงยังชีพพระราชทานมามอบให้ จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และก็ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประสบภัยด้วย โดยตั้งแต่เกิดเหตุขึ้นมา ทุกฝ่ายต่างพยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยกันดับไฟ การสำรวจประเมินความเสียหายเพื่อหาทางช่วยเหลือ การจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลเรณูใต้กำลังเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติวงเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 วงเงินไม่เกิน 49,500 บาท

ทั้งนี้อยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนขอให้ตรวจเช็คระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้ดี ไม่ว่าจะเป็น สภาพของระบบไฟฟ้า สายไฟ แหล่งจ่ายไฟฟ้า รวมถึงสภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่มีอยู่ภายในบ้าน เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียอย่างเช่นครั้งนี้ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่ายังใช้ได้อยู่ แต่ตามหลักความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างมีอายุการใช้งาน เพราะฉะนั้นเราต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่ายังใช้งานได้จริง ไม่มีปัญหา หรือถ้าเริ่มมีปัญหาก็ควรซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ เช่น ปลั๊กไฟที่พอใช้งานไปนาน ๆ มีการเสียบและถอดปลั๊กบ่อย ๆ จะเกิดการหลวมของเต้ารับ แม้จะใช้งานได้แต่ก็มีโอกาสหลวมและก่อให้เกิดความร้อนตรงจุดนี้นำมาซึ่งการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ เพราะฉะนั้นถ้าหลวมก็ควรซ่อมแซมให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน หรือไม่ก็เปลี่ยนใหม่ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการฝึกพฤติกรรมที่ปลอดภัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ภายในบ้านแบบไม่รู้ตัว เช่น การเสียบสายไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้แม้ไม่ได้ใช้งาน การเก็บสะสมขยะหรือของที่ติดไฟได้ง่ายเอาไว้ภายในบ้านจำนวนมากจนเกินไป หรือแม้กระทั่งการเปิดวาล์วแก็สทิ้งไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน