วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ที่บริเวณถนนสวรรค์ชายโขง หมู่บ้านชนเผ่า อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเป็นประธานเปิดงานประเพณีลอยกระทง 8 ชนเผ่า ประจำปี 2565 ที่อำเภอเมืองนครพนม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวไทยในการสืบสานประเพณีวันลอยกระทงในการบูชาและขอขมาต่อแม่น้ำที่เราได้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ซึ่งได้มีการล่วงเกินในสิ่งต่าง ๆ ลงไป เป็นการลอยเคราะห์และอธิษฐานขอพรต่อแม่น้ำคงคา ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งมีความสวยงามที่แตกต่างกัน ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงก่อนตะวันลับฟ้าที่มีแสงสาดลงมากระทบกับผิวน้ำในแม่น้ำโขง จะยิ่งตราตรึงใจของใครหลายคนที่ได้มาเยือนบริเวณแห่งนี้ นอกจากนี้จุดบริเวณจัดงานยังมีหมู่บ้าน 8 ชนเผ่าของจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่จังหวัดนครพนมได้มีการสร้างบ้านของแต่ละชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมเอาไว้ เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนได้เห็นและสัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละชนเผ่าในพื้นที่จังหวัดนครพนม รวมไปถึงเป็นพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจที่ทอดยาวตามริมฝั่งแม่น้ำโขงให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับบรรยากาศที่เย็นสบายและรับโอโซนที่แสนบริสุทธิ์ โดยในแต่ละวันจะมีกิจกรรมให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ร่วมสนุก ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงรำวงพื้นบ้าน การประกวดนักร้องลูกทุ่ง การประกวดกระทงและการประกวดนางนพมาศ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าโอทอปและสินค้าชุมชนในพื้นที่ 13 ตำบลของอำเภอเมืองนครพนม
โดยวันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งในปี 2565 นี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนามีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ขณะเดียวกันก็มีตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ กล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียงที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่า ไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: