X

พช.นครพนม พาชมความสำเร็จ “โคก หนอง นา “

 

วันที่ 25 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่แปลงศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา แปลง นางสาวพรทิพย์ บุญตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม นายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้ นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (งบเงินกู้) และเป็นแปลงศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา แปลง นางสาวพรทิพย์ บุญตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม

แปลงศูนย์เรียนรู้ต้นแบบฯ มีขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ตามแบบมาตรฐานกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วนพื้นที่ 1:3 ประเภทดินเหนียว ซึ่งได้รับงบประมาณ ปี พ.ศ. 2564 ดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และมีแผนที่จะพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป กิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่โคก ได้แก่ 1) ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง 2) ปลูกป่า 5 ระดับ ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เช่น ปลูกต้นยางนา ต้นสัก สะเดา ประดู่ ฯลฯ 3) ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ เงาะ ขนุน ทุเรียน มะขาม กระเจี๊ยบ ฯลฯ 4) ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ พริก มะเขือ อ้อยคั้นน้ำ ขี้เหล็ก สะเดา ฯลฯ 5) เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่อารมณ์ดี 50 ตัว 6) เลี้ยงหนอนแมลงวันลาย หนอนแมลงโปรตีน เป็นแหล่งโปรตีนเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ 7) สร้างที่อยู่ อาศัย

พื้นที่หนอง คลองไส้ไก่ หนองน้ำ สามารถ เก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปีทั้งปี มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาบึก ปลาช่อน ปลานิล ปลาดุก ประมาณ 9,000 ตัว ปลูกข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นเมือง และปรับปรุงดิน หลังเก็บเกี่ยว โดยไถกลบแปลงนา เพื่อจะปลูกปอเทือง ผลผลิตจาก โคก หนอง นา ที่ได้เข้าร่วมโครงการปรับปรุงพื้นที่ เข้าสู่ปีที่ 2 มีผลผลิต ได้แก่ ปลา กล้วย ขี้เหล็ก อ้อย ไข่ไก่ กระเจี๊ยบ และพืชผักสวนครัว สามารถเป็นแหล่งอาหารให้ครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังได้แบ่งปันเพื่อนบ้านและจำหน่าย ช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้แก่ครัวเรือน ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น

นางสาวพรทิพย์ บุญตา และนางสาวนิตยา วุฒิสีลานนท์ กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต จากพื้นที่รกร้างไม่มีใครสามารถเข้ามาพื้นที่แปลงได้ในวันนั้น จะสามารถสร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม สร้างสุขภาพให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง และโคก หนอง นา ของตนสามารถสร้างรายได้จากผลผลิต เช่น ขายไข่ไก่อารมณ์ดี ประมาณ 4,000 บาท/เดือน ขายพืชผักสวนครัว ประมาณ 1,000 บาท/เดือน ขายน้ำอ้อยประมาณ 6,000 บาท/เดือน ขายน้ำกระเจี๊ยบประมาณ 3,000 บาท/เดือน รวมรายได้กว่า 13,000 บาท/เดือน และยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจอยากจะมาศึกษาดูงาน พร้อมที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นจุดท่องเที่ยงเชิงเกษตรเพื่อเพิ่มอาชีพและรายได้สู่ชุมชน สรุปได้ว่า โคก หนอง นา เป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลดีต่อชุมชน บนพื้นฐานความพอเพียง และสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน