X

อบจ.นครพนม จัดประกวดร้องเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่ง สร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้น

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่บริเวณหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประกวดร้องเพลงลูกกรุง และเพลงลูกทุ่ง ตามโครงการประกวด กิจกรรม TO BE NUMBER ONE จังหวัดนครพนม ประจำปี 2566 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมจัดขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม ให้มีความหลากหลาย โดดเด่นน่าสนใจ และกระตุ้นการเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดนครพนมในช่วงเทศกาลแห่งความสุข ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน ประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีความสนใจและมีความสามารถในด้านการร้องเพลงได้แสดงออกเป็นการสร้างโอกาสให้ได้ก้าวไปสู่เวทีการประกวดที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงทำให้ทุกคนห่างไกลจากยาเสพติด และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยผู้ที่สมัครเข้าแข่งขันจะต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปไม่แยกหญิงหรือชาย สามารถสมัครเข้าประกวดร้องเพลงได้เพียงหนึ่งประเภทเท่านั้น เพื่อชิงเงินรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ

ทั้งนี้ เพลงลูกกรุง เป็นเพลงไทยสากลประเภทหนึ่ง โดยเป็นเพลงที่บอกเล่า ถ่ายทอด ความรู้สึกของสังคม และคนเมืองหลวง ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การถ่ายทอดอารมณ์ การขับร้อง น้ำเสียง ของกลุ่มนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีจะมีรูปแบบ ประณีต ละเอียดอ่อน ออกมานุ่มนวล เนื้อร้องจะมีลักษณะเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง มีความหมายสลับซับซ้อน ยอกย้อน โดยจากแหล่งข้อมูลเพลงลูกกรุงกำเนิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองฯ ระหว่างรัชกาลที่ 6 และ 7 ซึ่งเริ่มชัดเจนเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2475 ที่เริ่มมีแนวเพลง เนื้อร้อง ทำนอง และเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงประกอบ ส่วนเพลงลูกทุ่ง เป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง และลีลาการร้อง การบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่ง โดยขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องของละครและเพลง ว่าเพลงลูกทุ่งเป็นวงดนตรีแบบสากลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีหรือสองปี ลักษณะเพลงลูกทุ่งในระยะเริ่มแรก มาจากการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม อาทิ แหล่เทศน์ สวดคฤหัสถ์ จำอวด ลิเก (ทรงเครื่อง) ลิเกลูกบท (ไม่แต่งเครื่อง) ลิเกบันตน ลำตัด เพลงขอทาน เพลงพื้นเมืองบางเพลง ฯลฯ โดยเพลงลูกทุ่งนำมาดัดแปลงแล้วใส่ดนตรีแบบสากล เป็นลักษณะเพลงแบบใหม่

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน