วันที่ 17 มกราคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดนครพนม อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะครู อาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกันประกอบพิธีถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมราชนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราซ เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี 2566 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมา
พ่อขุนรามคำแหง หรือ พญาร่วง หรือ พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เมื่อครั้งมีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้เสด็จเข้าร่วมกองทัพกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นพระบิดาไปป้องกันเมืองตาก และได้สู้รบกับขุนสามชนจนได้รับชัยชนะ และด้วยความกล้าหาญในครั้งนั้นทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชทานนามให้ว่า รามคำแหง ซึ่งหมายความว่า รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ ภายหลังเมื่อประมาณ พ.ศ. 1822 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ขึ้นครองกรุงสุโขทัย โดยในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นช่วงสมัยที่กรุงสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สามารถค้าขายติดต่อกับบ้านเมืองต่าง ๆ ได้โดยรอบ และยังยอมเป็นเมืองผ่านทางการค้า มีการอนุญาตให้พ่อค้าเอาสินค้าไปค้าขายได้โดยไม่เก็บภาษี ทำให้มีคนมาค้าขายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นราชอาณาจักรไทยที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1826 ที่ถือเป็นต้นกำเนิดมรดกอันล้ำค่าที่คนไทยทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์และความสละสลวย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในด้านต่าง ๆ ปวงชนชาวไทยจึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระองค์ท่านเป็นองค์แรกของชาติไทย และได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้สักการะ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนดวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น โดยถือเอาวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาได้มีการพิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทางคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงได้เสนอความคิดเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี ลงมติอนุมัติการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ โดยให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปีเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- วธ.จัด“ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” น้อง“หมูเด้ง” Thai Cuteness ร่วมสร้างสีสัน
- สุดยอดงานกฐินบุญต่อชีวิตคน พระอาจารย์เขียวทอดกฐินสามัคคีจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินและอุปกรณ์ทางการแพทย์มุลค่ากว่า5ล้านบาท
- นบ.ยส.24 โดย ร้อย.ฉก.ทพ.2101 โชว์ฝีมือจับผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 12,000 เม็ด
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: