‘ชวลิต’ ส.ส.นครพนม ประกาศลาเพื่อไทย ซบไทยสร้างไทย เชื่อเป็นทางออกประเทศจากความขัดแย้งนำสู่ความปรองดอง-สมานฉันท์
วันที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 8.30 น. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม เขต 4 (อ.นาแก อ.ปลาปาก และ อ.วังยาง) แถลงข่าวลาออกจากพรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีทีมงาน และประชาชนในพื้นที่มาร่วมรับฟังจำนวนมาก หลายคนพกข้าวปลาอาหาร และดอกไม้ มาให้กำลังใจ
นายชวลิต กล่าวว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 โดยไม่มีปัญหาส่วนตัวใดๆ ในพรรคเพื่อไทย และยังคงให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ของพรรคและผู้บริหารพรรค รวมถึง 2 อดีตนายกรัฐมนตรีเสมอมาไม่เปลี่ยนแปลง
แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตนเองได้ตกผลึกความคิดทางการเมืองว่า นับจากปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 20 ปี การเมืองประเทศไทยยังอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง แบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่าย ทำลายล้างกัน จนประเทศตกหล่ม ถอยหลังเข้าคลอง วิ่งตามเพื่อนบ้านไม่ทัน และประชาชนยากจนลงแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
- องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานแก่ประชาชนผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่ จ.นครพนม
- ททท.สำนักงานนครพนม จัดกิจกรรม TAT Nakhonphanom Open House #10
- ม.นครพนม จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก
พรรคการเมืองที่เคยสังกัดถูกยุบ 2 ครั้ง ถูกปฏิวัติ 2 ครั้ง รัฐมนตรีของพรรคต้องโทษจำคุกแล้วกว่า 10 คน และยังมีอีกหลายคนที่ต่อคิวเพราะคดีความยังไม่สิ้นสุด ตนเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองและการรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยิ่งกระทำกับพรรคการเมืองที่ตนเคยสังกัด ยิ่งทำให้ความขัดแย้งฝังรากลึก ต่อเนื่อง ยาวนาน ดังนั้น ตนเองจึงตกผลึกทางความคิดว่า ต้องหาพรรค การเมืองที่มีจุดยืนอุดมการณ์ประชาธิปไตย และต้องมีนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างการเมืองสองขั้ว เพื่อเป็นทางออกให้กับบ้านเมือง
นายชวลิต กล่าวว่า ตัวเองมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองโดยการทำงานกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และรับแนวคิดนโยบายการปรองดอง สมานฉันท์ มาปรับใช้ในการทำงานการเมืองเสมอมา และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างปกติสุข เหมือนบ้านอื่น เมืองอื่น โดยได้ทำงานเป็นกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร ทำการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ โดยตนเองเป็นคนกลางประสานงานให้ นปช. กปปส. ส.ส. และ ส.ว. ได้พบกันนอกรอบปรึกษาหารือหาทางออกจากความขัดแย้งหลายครั้ง และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจนมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ แต่รัฐบาลกลับนำรายงานดังกล่าวเก็บเข้าลิ้นชัก ไม่ไปดำเนินการต่อ รวมทั้งยังศึกษาและสรุปรายงานแนวทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการพัฒนา สร้างสันติสุขและประชาธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกด้วย
และพรรคการเมืองที่ตนเห็นว่าจะนำมาซึ่งทางออก ทางรอดให้กับประเทศไทยคือ พรรคไทยสร้างไทย ที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เคยประกาศว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอเป็นพรรคทางออกที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ ยังเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงเป็นเวลา 30 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในหลายกระทรวง โดยเฉพาะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขยันอดทน เสียสละ โดยเฉพาะการเลือกตั้งปี 2562 ที่แม้รู้ว่าจะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็ตั้งใจช่วงคนในพรรคหาเสียงเต็มที่ เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซื่อสัตย์ สุจริตไม่เคยมีเรื่องทุจริต ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาชาติได้
และที่สำคัญคือคุณหญิงสุดารัตน์เป็นลูกอีสาน ตรงกับความนิยมของคนในพื้นที่ เคยเสนอทำนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งตอนสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และยังมีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีสานอีกมากมาย รวมทั้งจะสานต่อโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งด้วย ที่ผ่านมา ส.ส.อีสานมีมาก แต่เป็นเหมือนเบี้ยในเกมส์การเมือง ไม่ใช่ขุนที่จะแก้ไขปัญหาในชาวอีสานได้ นอกจากนี้ในพรรคไทยสร้างไทยยังมี ดร.โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีความคุ้นเคยและทำงานร่วมกันมานาน
นายชวลิต กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยเป็นเหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะพาประชาชนออกจากความขัดแย้งเกือบ 20 ปี เป้าหมายในชีวิตทางการเมืองของเขาคือ นำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งที่มีมาช้านาน หาทางออก ทางรอดให้ประเทศ และสร้างประเทศที่ดีที่สุดเพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน ทั้งนี้นายชวลิต ยังกล่าวด้วยว่า จะสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยในวันพรุ่งนี้ (24 มกราคม 2566)ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: