โรงพยาบาลนครพนม ร่วมกับหน่วยคุ้มครองสุขภาพโลกจังหวัดนครพนม คิดระบบแจ้งเตือนการติดเชื้อในกระแสเลือดเรียลไทม์สร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วย
ดร.บารเมษฐ์ ภิราล้ำ ผู้จัดการโครงการ หน่วยคุ้มครองสุขภาพโลก จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากการที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปอด ในช่องท้อง ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อก็จะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกายคนเรา และเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อองค์ประกอบแปลกปลอมของเชื้อเหล่านั้น จะเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายเกิดความล้มเหลว และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเสียชีวิตได้ โดยภาวะดังกล่าวเป็นปัญหาทางสุขภาพอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ในการทำงานของทีมแพทย์ที่รักษาจะใช้วิธีในลักษณะการตรวจรักษาแล้วจดข้อมูลทุกอย่างในกระดาษ ดังนั้น หน่วยคุ้มครองสุขภาพโลกจังหวัดนครพนมและโรงพยาบาลจังหวัดนครพนม จึงได้ร่วมกันหาแนวทางในการส่งต่อข้อมูลที่มีความรวดเร็วและสามารถแจ้งเตือนคณะแพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษา เพื่อช่วยผู้ป่วยให้ได้รวดเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์ม “Septic Alert” ที่เป็นเว็บแอพพลิเคชั่นใช้งานผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ต สำหรับการแจ้งเตือนผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ให้กับแพทย์และพยาบาลผู้ปฏิบัติงานในแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพนม ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนการติดเชื้อในกระแสโลหิตโดยการบูรณาการการจัดการข้อมูลยุคใหม่ สำหรับการจัดการทางคลินิกและการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลของจังหวัดนครพนม (DGHP-Septic Alert-NP)” ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (Thailand MoPH and U.S. CDC Collaboration: TUC)
โดยนายกฤษฎา สุมาลัย โปรแกรมเมอร์ของโรงพยาบาลนครพนม ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “Septic Alert” ร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มาส่งเสริมกระบวนการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งปัจจุบันกำลังจะนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยควบคู่กับระบบเดิมเพื่อประเมินประสิทธิภาพและหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งถ้าสำเร็จจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่มารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลนครพนม เพราะจะได้รับคือการวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และจะถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครพนม รวมถึงอาจจะถูกพิจารณานำไปขยายผลในโรงพยาบาลอื่นในเขตสุขภาพที่ 8 ต่อไปด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: