วันที่ 3 มีนาคม 2566 เวลา 16.30 น. ที่วัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดงาน นมัสการพระธาตุประสิทธิ์ บุญเดือนสี่ ของดีนาหว้า ประจำปี 2566 ที่ชาวอำเภอนาหว้าได้ร่วมใจกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2566 เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ของจังหวัดนครพนมให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น สะท้อนอัตลักษณ์ความโดดเด่นของอำเภอนาหว้า ทั้งด้านเครื่องแต่งกาย อาหาร และวิถีชีวิตพื้นถิ่น อันเป็นเสน่ห์ให้ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว ต้องมาเยือนอำเภอนาหว้า เพื่อชื่นชม พร้อมสักการะพระธาตุประสิทธิ์ อันเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารส่วนท้องที่/ท้องถิ่น ประชาชน ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก หลังเปิดงานได้มีการแสดงฟ้อนรำกว่า 300 ชีวิต สวยงามอลังการเป็นอย่างยิ่ง
นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า กล่าวว่า พระธาตุประสิทธิ์ นับเป็นพระธาตุลูกหลวงขององค์พระธาตุพนม ตั้งอยู่ในวัดธาตุประสิทธิ์ เขตเทศบาลตำบลนาหว้า ตามประวัติและตำนานสร้างขึ้นแต่ครั้งโบราณ ในปี 2283 พระเจ้าขัตติยวงษาราชบุตรา มหารือไชยไตรทศรือเดชเชษฐ์ บุรี ศรีโคตรบูรณ์หลวง กษัตริย์ผู้ครองนครศรีโคตรบูรณ์ (นครพนม) ได้ทรงบูรณะซ่อมแชมพระเจดีย์ให้สวยงาม ในปี 2436 พระเจดีย์ก็ถึงความชำรุด ทรุดโทรม ได้หักพังลงมา และได้มีการบูรณะซ่อมแซมให้สวยงามยิ่งขึ้น
โดยจำลองแบบจากองค์พระธาตุพนมในสมัยท่านพระครูประสิทธิ์ศึกษากรพระเจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความกว้าง 7.20 เมตร วัดโดยรอบรวม 28.80 เมตร ฉัตรสูง 4.82 เมตร จากฐานถึงยอดฉัตรสูง 28.52 เมตร ปัจจุบันทำด้วยทองคำ หนัก 89 บาท ประกอบพิธียกฉัตรเมื่อ พ.ศ. 2544 โดย คุณหญิง พันธ์เครือ ยงใจยุทธ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระอรหันตธาตุ รวม 14 องค์ ดินจากสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย 4 แห่ง ซึ่งเป็นดินจาก สถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมเทศนาและปรินิพพาน และด้วยความรัก ความศรัทธาต่อองค์พระธาตุประสิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชาวอำเภอนาหว้า จึงได้กำหนดให้ช่วงระหว่างวันขึ้น 12 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นการจัดงานนมัสการพระธาตุประสิทธิ์ ประจำปี เช่นเดียวกับพระธาตุลูกหลวงอื่นๆ โดยได้ใช้ชื่อว่า “นมัสการพระธาตุประสิทธิ์ บุญเดือนสี่ ของดีนาหว้า” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
การจัดงาน “นมัสการพระธาตุประสิทธิ์ บุญเดือนสี่ ของดีนาหว้า” ประจำปี 2566 เป็นปีที่ 61 ได้เน้นรูปแบบการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละเผ่า และภูมิปัญญาชาวบ้าน ของอำเภอนาหว้า โดยจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การรำบูชาพระธาตุประสิทธิ์ พิธีแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง (4 มี.ค.66) การแสดงวิถีชีวิตวัฒนธรรมขนเผ่าต่างๆ การแสดงศิลปะพื้นเมือง การออกร้านโดยก่อสร้างเป็นตูบ (ซุ้ม) แสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP สินค้าชุมชน สินค้าแปรรูปต่างๆ ชมการแสดงหมอลำ คณะเสียงอีสาน (5 มี.ค.66) ชมวงดนตรีพื้นเมืองและภาพยนตร์ตลอด 4 คืน
ข่าวน่าสนใจ:
- สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดงานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21
- กกต.อบรมความรู้กฏหมายเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครนายก อบจ และ ส.อบจ.
- ชื่นมื่น แขกนับพันร่วมงานฉลองงานแต่งสาวหล่อสาวสวยคู่แรกของพังงา เตรียมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 22 มกราคม 68
- เปิดแล้วสุดยอดจุดเคาท์ดาวน์ซับสะเลเตบนขุนเขาแห่งดอกไม้ใหญ่สุดในภาคอีสาน!
ทั้งนี้ การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความรักสมัครสมานสามัคคี และความศรัทธาของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอนาหว้า ที่มีต่อองค์พระธาตุประสิทธิ์ ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่’บ้านคู่เมืองอำเภอหว้า เป็นการดำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอำเภอนาหว้า ที่สืบทอดกันมาให้คงอยู่ตลอดไป อีกทั้งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของดีอำเภอนาหว้า ให้ปรากฏแก่สายตาและจารึกในความทรงจำของประชาชนโดยทั่วไป เป็นการแสดงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม และปลูกฝังค่านิยมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดนครพนม สภาวัฒนธรรมอำเภอนาหว้า ส่วนราชการทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งคณะสงฆ์ในเขตพื้นที่อำเภอนาหว้า สถานศึกษาและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล นครพนม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: