X

นครพนม สร้างครู ก ถ่ายทอดความรู้เรื่องแอพ ThaID พิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

 

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการพัฒนาระบบรับรองการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตนเพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ โดยได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Thai Digital Identity (ThaID) หรือ ไทยดี ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในการลงทะเบียนทำธุรกรรมต่าง ๆ แทนการใช้บัตรประชาชนและเอกสารทะเบียนบ้าน แก้ปัญหาการแสวงหาประโยชน์ การทุจริต การกระทำต่าง ๆ ที่แฝงมาด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทั้งยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปติดต่อกับราชการที่สำนักงาน เป็นการตอบสนองต่อการบริการประชาชนของภาครัฐและภาคเอกชนให้ได้รับความสะดวกให้การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในยุคดิจิทัล โดยแอพพลิเคชันดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification Service) เพื่อให้หน่วยงานผู้ให้บริการด้านพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลใช้บริการ โดยการส่งเลขประจำตัวประชาชนพร้อมรูปภาพใบหน้าตามรูปแบบที่กรมการปกครองกำหนด เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลของกรมการปกครอง และตอบกลับผลการเปรียบเทียบเป็นร้อยละของคะแนน เช่น ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนในท่าอากาศยานในประเทศ ยืนแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้ยืนยันตัวตนเข้าสู่เว็บไซต์ การแจ้งย้ายที่อยู่ คัดและรับรองเอกสารทางทะเบียน ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลบนมือถือ

ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ได้เข้ามาใช้ระบบที่มีความปลอดภัยที่กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาขึ้นมานี้ จึงได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการใช้งานแอพพลิเคชั่น ThaID ให้กับคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และข้าราชการทุกคนทุกสังกัด ที่มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ภายในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดนครพนมให้ได้รับทราบถึงคุณสมบัติ คุณประโยชน์ ขั้นตอนการยืนยันตัวตนและการใช้งานแอพพลิเคชั่น พร้อมมอบหมายให้ทุกคน เป็นครู ก นำความรู้ที่ได้รับไปประชาสัมพันธ์ขยายผลต่อยังคนในครอบครัวและประชาชนผู้มาใช้บริการหน่วยงาน พร้อมกันนี้ก็ได้กำหนดแนวนโยบายการประชาสัมพันธ์การใช้แอพพลิเคชั่นในรูปแบบดาวกระจาย โดยกลไกของแต่ละภาคส่วนบูรณาการร่วมกันดำเนินการ เช่น ให้นโยบายนายอำเภอใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการประจำอำเภอขยายผลการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ ให้สาธารณสุขจังหวัดใช้กลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยขยายผลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการทำธุรกรรมภาครัฐ ผ่านช่องทางดิจิทัล ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผ่านแอพพลิเคชั่น ThaID ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งมือถือระบบ android และ iOS

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน