วันที่ 5 เมษายน 2566 ที่บริเวณหาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ ถนนสวรรค์ชายโขง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำประชาชนจิตอาสา ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันจักรี ทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการเตรียมสถานที่สำหรับการจัดงานนครพนมบีช ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ที่จะมีการวางแผนสร้างสรรค์กิจกรรมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มาร่วมสนุกทั้งการแข่งขันกีฬาบนหาดทราย การเล่นน้ำโขง การออกร้านจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น สินค้า OTOP สินค้าเด่นของ 12 อำเภอในพื้นที่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนจังหวัดนครพนมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีจิตอาสานับร้อยคนพร้อมใจกัน เข่าร่วมกิจกรรม เก็บกวาดขยะบริเวณหาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ บริเวณถนนสวรรค์ชายโขง เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานสงกรานต์ประจำปี 2566 ที่จะถึงนี้
สำหรับวันจักรี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 อีกทั้งยังทรงเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครฯ เพื่อเป็นเมืองหลวงถัดจากกรุงธนบุรี และด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา และ พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ปราสาท หรือพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อการซ่อมแซม ก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศ ตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วันจักรี” และในเวลาต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้เป็น วันหยุดราชการ แต่หากวันจักรีในปีใดตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการถัดไป
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: