X

สสจ.นครพนม ชูแผนด้านการแพทย์ รับกิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ประชาชนที่ขบวนจักรยานผ่าน ร่วมมือแสดงความจงรักภักดี

นครพนม – วันที่ 8 ธ.ค.61 นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม(สสจ.ฯ)  แจ้งว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชุมทางไกล (Teleconference) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในกิจกรรรม “Bike อุ่นไอรัก” วันที่ 9 ธ.ค.61 ซึ่งจัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้ดำเนินการจิตอาสาด้านการแพทย์ การคัดกรองสุขภาพ เพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ การจัดทำแผนปฏิบัติการ รองรับอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยจัดให้มี 1.ทีม Static การวางจุดของทีมแพทย์และปฐมพยาบาล เป็นระยะ 2.ทีม Dynamic ปั่นจักรยานพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามไปในขบวน 3.การส่งต่อ รพ. รถพยาบาล และ 4.การประสาน รพ.รองรับการส่งต่อ

ทั้งนี้ สสจ.นครพนม ได้ประชุมการเตรียมความพร้อม และการให้บริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขระดับจังหวัด กิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ซึ่งมีกำหนดจัดในวันอาทิตย์ที่ 9 ธ.ค. นี้ ณ ห้องประชุมร่มเกล้า สสจ.ฯ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.   และวันที่ 7 ธ.ค.  ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลนครพนม รวม 2 วัน

ในส่วนของเตรียมตัวให้พร้อม แล้วไป “Bike อุ่นไอรัก” ขอฝากถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน ก่อนปั่นจักรยาน กำหนดระยะทางปั่นให้เหมาะสม ฝึกซ้อมสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง พักผ่อนให้เต็มที่ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สะอาดหรือมีความเสี่ยง ตรวจสอบความพร้อมรถจักรยาน เตรียมหมวกกันน็อก แว่นตากันลม เป้ กระเป๋าใส่ของจำเป็น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ยาประจำตัว ข้อมูลสุขภาพ ขวดน้ำ ขนมขบเคี้ยวที่มีความหวาน เพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือด

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรจดข้อมูลโรคประจำตัว ยาที่ใช้ ประวัติแพ้ยา กรุ๊ปเลือด เบอร์โทรติดต่อญาติ เพื่อเป็นข้อมูลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และผูกข้อมือด้วยผ้าสีเหลือง ปั่นในเลนซ้ายสุด หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือได้รับอุบัติเหตุ ให้หลบเข้าข้างทาง และแจ้งขอความช่วยเหลือจากบุคลากรสาธารณสุข หรือจิตอาสาในบริเวณงาน หรือโทรสายด่วน 1669

ข้อควรจำคือการปั่นจักรยานในงาน ให้สัญญาณมือ หรือเสียง เมื่อจะแซง ไม่สนทนาหรือใช้โทรศัพท์ขณะปั่น หากมีหรือสงสัยว่าจะมีโรคประจำตัว ให้ติดต่อจุดคัดกรองด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับคำแนะนำการปฏิบัติตัว ผู้ที่ปั่นระยะทางไกล ควรรับประทานมื้อเที่ยงให้มาก เพราะอาจใช้เวลาปั่นมาก ปั่นช้าให้อยู่เลนซ้าย ปั่นเร็วให้อยู่เลนขวา และเว้นระยะห่าง ไม่ให้รถเกี่ยวกัน ใช้ทักษะในการควบคุมจักรยาน มากกว่าการทำความเร็ว

นอกจากนี้ นพ.จิณณพพภัทรฯ ได้เผยว่าโรคที่มักจะเกิดกับนักกีฬาคือ โรคลมแดด (Heat Stroke)  ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤต ในภาวะปกติร่างกายจะมีระบบการปรับสมดุลความร้อน เมื่อความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น จะมีขบวนการกำจัดความร้อนออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต่อมใต้สมองไฮโปทาลามัสส่วนหน้า หากสมดุลนี้เสีย จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น

สำหรับโรคลมแดดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heat Stroke : EHS) มักพบในกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงมาก่อน เช่น เด็กโต วัยรุ่น นักกีฬา ทหารเกณฑ์ที่ฝึกในอากาศร้อนจัด หรือผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมเกินไป ร่วมกับปัจจัยอากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิสูง

โรคลมแดดทั่วไป (Non-exertional Heat Stroke: NEHS) มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่ต้องรับประทานยา เบาหวาน ความดัน ผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งพบในกลุ่มที่ใช้สารเสพติด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับ

อาการสำคัญของโรคลมแดด ได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่ายกาย 41 องศาเซลเซียส มีเหงื่อออก ประวัติสัมพันธ์กับอากาศร้อนขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย มีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว กระสับกระส่าย มึนงง สับสน ชักเกร็ง หมดสติ โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำ หรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้

การช่วยเหลือเบื้องต้น จะต้องนำผู้ที่มีอาการเข้าในร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณ ใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล

และการรักษาโรคลมแดดเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ที่ต้องรีบให้รักษาทันที ต้องรับคนไข้ไว้ติดตามอาการต่างๆ ในโรงพยาบาล อย่างน้อย 48 ชั่วโมงในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยรักษาดังนี้ ลดอุณหภูมิร่างกายลง โดยค่อย ๆ ลดอุณหภูมิลงมาที่ 39 องศาเซลเซียส ไม่ต้องการลดให้ลดเร็วเกินไป โดยพ่นละอองน้ำ ใช้น้ำอุ่น ร่วมกับเปิดพัดลมเป่า จะช่วยระบายความร้อนได้ดีที่สุด ปลอดภัยกว่าการจุ่มลงในน้ำผสมน้ำแข็ง ซึ่งทำให้เกิดการหนาวสั่น เส้นเลือดหดตัวทำให้ความร้อนยิ่งเพิ่มขึ้น

การป้องกัน ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตร/วัน หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ถ่ายเท ไม่สะดวก หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลม ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หากรู้สึกเหนื่อยมากควรรีบพักทันที ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หากต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวกป้องกัน หรือเตรียมตัวออกกำลังกายกลางแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดที่เพิ่มความร้อนให้ร่างกาย

ขณะที่ พ.ต.อ.เกียรติภูมิ สุวรรณไตรย์ ผกก.สภ.เมืองนครพนม ในฐานะเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านจัดการจราจรและรักษาความปลอดภัย ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากท่านที่เป็นเจ้าของ/ผู้ครอบครองรถ ไม่จอดรถในเส้นทางปั่นจักรยาน ประกอบด้วย ถนนอภิบาลบัญชา,นิตโย,สุนทรวิจิตร,ดิษฐวงศ์วิถี,และถนนชยางกูร(นครพนม-ท่าอุเทน)ทั้ง 2 ด้าน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและด้านความปลอดภัย ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว พร้อมทั้งเป็นแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 9 ธันวาคม 2561จนกว่าจะแล้วเสร็จกิจกรรม (แต่ไม่เกิน 20.00 น.) ซึ่งประชาชนผู้มีบ้านเรือน และที่พักอาศัยอยู่บริเวณถนนดังกล่าว ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน