พ่อเมืองนครพนม กำชับหน่วยงานเร่งรัดโครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมแนะไอเดียนำระบบโซล่าเซล์มาประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย
วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรับฟังการติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 ของคณะองคมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จากตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้มารายงานผลการดำเนินงาน ที่ห้องประชุมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยภายหลังการร่วมประชุมออนไลน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้พูดถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดนครพนมที่ปัจจุบันมีปริมาณที่น้อยกว่าปีที่แล้วในเวลาเดียวกัน อีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกในระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2566 จากนั้นฝนจะทิ้งช่วงไปประมาณ 2 เดือน พร้อมกับสภาพอุณหภูมิที่จะเริ่มคลายตัวลง ประกอบกับมีหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดนครพนม 164 หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค โดยในจำนวนนี้มี 14 หมู่บ้านที่ไม่มีประปาหมู่บ้านใช้ ดังนั้นในภาพรวมจึงจะมีการออกประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนทุกคนในเรื่องของการขอให้ใช้น้ำโดยประหยัด และที่ผ่านมาทุกหน่วยได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรและกำลังพลไว้ให้การช่วยเหลือประชาชนหมดแล้ว ซึ่งถ้าหากมีหมู่บ้านใดที่เกิดการขาดแคลนน้ำ ได้รับความเดือดร้อน ก็ขอให้ทำการร้องขอเข้ามา เจ้าหน้าที่ทุกนาย และทุกหน่วยงานพร้อมบูรณาการเข้าช่วยเหลือในทันที อย่างไรก็ดีก็ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการไปแล้ว ขอให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็น โครงการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง นอกจากนี้ยังได้พูดถึงแนวทางโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การเจาะบ่อบาดาล การสร้างสถานีสูบน้ำที่อยากให้มีการนำระบบไฟฟ้าโซล่าเซลล์มาใช้ เพราะมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากกว่า ด้วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามที่เป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ที่ไม่สามารถก่อสร้างอะไรได้ เพราะมีความสำคัญระหว่างประเทศ ต้องอนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดในทุก ๆ ด้าน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: