กรมส่งเสริมสหกรณ์ ฟ้อง สหกรณ์การเกษตร ท่าอุเทน ให้คืนเงินค่าโรงสีข้าวขนาด 40 ตัน หลังไม่สามารถหาเงินคืนได้
กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เป็นโจทก์มอบอำนาจให้ผู้แทน ยื่นฟ้องสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ฐานผิดสัญญา และเรียกเงิน 9,268,044 บาท หลังจากที่สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน ไม่สามารถหาเงินมาคืนค่าโรงสีข้าวขนาด 40 ตันที่ได้รับมอบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เมื่อปี 2544 โดยเป็นการรับการช่วยเหลือตามโครงการเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร ตามแผนงานพัฒนาสินค้าและการจัดการผลผลิตของสถาบันเกษตรกร เป็นรูปแบบของโรงสีข้าวขนาด 40 ตัน มูลค่า 8,775,900 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จะต้องบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อนำไปเป็นเงินสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ให้กับสหกรณ์อื่น ๆ แต่หลังจากได้รับมอบโรงสีข้าวแล้ว สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทนไม่สามารถหาเงินบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ จนถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์ฟ้องต่อศาลนครพนมเพื่อเรียกเงินคืนดังกล่าว
นายเรืองสุข จิตมาตย์ ทนายความของจำเลยคือสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน เปิดเผยว่า คดีนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 โดยขณะนั้นอยู่ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ท่าอุเทน โดยเบื้องต้นมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันระหว่างโจทก์กับจำเลยมาระดับหนึ่งแล้ว และหลังจากที่สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทนได้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ตนจึงเข้ามารับเป็นทนายในคดีนี้ ซึ่งตนเห็นว่าในคดีนี้มีแง่มุมและข้อต่อสู้หลายประการที่จำเลยสามารถต่อสู้ได้ ซึ่งศาลนัดเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นี้ โดยหลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกันกับคณะกรรมการบริหารสหกรณ์แล้ว มีมติว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยจะไม่มีการยอมชำระเงินคืนอย่างเด็ดขาด ซึ่งหลังจากตนเข้ามารับหน้าที่ก็จะตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ อย่างละเอียดทั้งตัวสัญญาเงินกู้ และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในการรับมอบโรงสีข้าวมาดำเนินการ เนื่องจากตนตรวจสอบพบว่ายังมีอีกหลายสหกรณ์ที่ได้รับมอบอุปกรณ์การตลาดเป็นโรงสีและไม่สามารถดำเนินการให้เกิดรายได้เพื่อนำเงินกำไรมาส่งเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ จนถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่รับมอบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไม่ได้ใช้งานเลยและหลายแห่งพยายามจะขอส่งคืนโรงสีข้าวให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่ไม่เป็นผล จนส่งผลให้สหกรณ์แต่ละแห่งต้องเป็นหนี้เป็นสิน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครอยากได้โรงสีแต่ก็จำใจที่ถูกยัดเยียดเอามาให้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการโรงสีให้เกิดผลกำไรเพื่อนำเงินมาส่งคืนเข้ากองทุนฯ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดและข้อพิรุธอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นข้อมูลในสำนวนคดี ที่ตนจะนำมาต่อสู้ในชั้นพิจารณาคดี ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: