X

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งฟ้องอาญา บริษัทผู้ส่งออกพร้อมสั่ง ระงับ ล้ง และ ระงับ บริษัทผู้ส่งออก ผู้กระทำความผิดกรณีทุเรียนสวมสิทธิ์

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบอำนาจให้นางจินตนา สุขขุนทด หัวหน้าด่านตรวจพืชนครพนม ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมือง นครพนม จ.นครพนม  ให้ดำเนินคดีบริษัทผู้ส่งออก ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับรองสุขอนามัยพืช (ส่งออกทุเรียน) ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พร้อมสั่งการ

กำชับให้ด่านตรวจพืชทุกด่าน ที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก.7) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ให้ถูกต้อง หากตรวจสอบพบว่าผู้ส่งออก หรือ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) มีเจตนาแจ้งหรือให้ข้อมูลกับทางราชการในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก. 7) อันเป็นเท็จ ให้ทุกด่านตรวจพืช ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำวิธีการรับรองการใช้ GAP เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ไว้แล้ว

นางจินตนา สุขขุนทด หัวหน้าด่านตรวจพืชจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า กรณีที่ตนได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองนครพนม เป็นกรณีที่ทางด่านตรวจพืชนครพนมตรวจพบว่ามีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนบางรายนำส่งเอกสารประกอบการยื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืช อันเป็นเท็จ จึงได้รายงานให้อธิบดีฯทราบตามขั้นตอน จนอธิบดีมีหนังสือสั่งการให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในที่สุด ซึ่งเป็นคนละกรณีกับเหตุการณ์การจับทุเรียนที่คาดว่ามีการสวมสิทธิ์ที่จังหวัดศรีษะเกษ

ซึ่งปัจจุบันนี้การส่งออกทุเรียนผ่านด่านสะพานมิตรภาพ 3 นครพนม-คำม่วน มีประมาณวันละ 150 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ทุเรียนทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต  โดยขั้นตอนการส่งออกผู้ส่งออกจะต้องขอใบรับรองสุขอนามัยพืชกับด่านตรวจพืชต่าง ๆ ซึ่งสามารถระบุได้ขณะยื่นทางออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่นผู้ส่งระบุให้ด่านตรวจพืชนครพนมออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้ เมื่อด่านตรวจพืชได้รับเรื่องแล้วก็จะส่งเรื่องให้เจ้าของพืชที่ที่ผู้ส่งออกมีโรงคัดบรรจุตั้งอยู่ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจ ที่โรงคัดและบรรจุต้นทาง เมื่อบรรจุแล้วเสร็จก็จะทำการปิดผนึกอย่างแน่นหนา พร้อมระบุหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์อย่างชัดเจน ก่อนจะทำการส่งออกไปตามเส้นทางและด่านส่งออกที่ระบุ โดยระหว่างทางจะไม่สามารถเปิดตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวได้อีกจนกว่าจะถึงปลายทางเพื่อป้องกันการเปิดตู้เพื่อนำสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการตรวจปะปนเข้าไปได้อีก ดังนั้นการที่ต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อส่งออก จึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันการนำเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพส่งออกต่างประเทศซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างใหญ่หลวงได้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน