X

พ่อเมืองนครพนม ฟื้นวัฒนธรรมพื้นบ้าน ลงแขก “ดำนา” อนุรักษ์ประเพณี แบบวิถีชีวิตพื้นบ้าน

“ม่วนซื่นโฮแซว” พ่อเมืองนครพนม ฟื้นวัฒนธรรมพื้นบ้าน ลงแขก “ดำนา” อนุรักษ์ประเพณี แบบวิถีชีวิตพื้นบ้าน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ที่บริเวณแปลงนานางขันตี สังข์ประเสริฐ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองฮี อำเภอ ปลาปาก จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดกิจกรรมผู้ว่า คลายทุกข์ ช่วยเหลือราษฎรกลุ่มเปราะบางขึ้น โดยนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวรายงาน ถึงวัตถุประสงค์ขางการจัดกิจกรรรม ซึ่งเป็นการร่วมกันลงแขกดำนา ในรูปแบบการเอามื้อสามัคคี และยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณี แบบวิถีชีวิตพื้นบ้าน และสืบสานวัฒนธรรมของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชน และนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกันมากกว่า 200 คน

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า “ข้าว” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ที่สำคัญของจังหวัดนครพนม ในจังหวัดนครพนมจะเน้นการปลูกทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียวนาปี ในภาพรวม ปี 2564/65 มูลค่าทางเศรษฐกิจของข้าวนาปี ทั้งข้าวเจ้านาปี และข้าวเหนียวนาปี รวม 6,800 ล้านบาท พื้นที่ปลูกทั้ง 12 อำเภอ 1.5 ล้านไร่ ผลผลิต 578,000 ตัน ส่วนการจัดกิจกรรมลงแขกดำนา อนุรักษ์ประเพณี ตามวิถีพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรมในวันนี้ เป็นแปลงนานางขันตี สังข์ประเสริฐ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก ซึ่งเป็นราษฎรกลุ่มเปราะบางและเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ ทำให้จะต้องร่วมกันช่วยเหลือและส่งเสริมเพื่อให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรนั้นดีขึ้น ในการจัดงานลงแขกดำนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการลงแขกดำนาสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ในหมู่เกษตรกร และเป็นขวัญกำลังใจในการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพดี โดยก่อนเริ่มการลงแขกดำนา จะมีการเตรียมดินและใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ แล้วทำการลงแขกดำนาร่วมกันอย่างม่วนซื่นตามวิถีชาวอิสาน


ผู้ว่าฯนครพนม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงแขกดำนานั้น นับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบันที่มีการทำนาแบบนาหว่านเป็นส่วนใหญ่ และยังมีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกล เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตของเกษตรกร การลงแขกดำนาจึงเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวนาอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนมีน้ำใจไมตรี การลงแขกในภาคอีสานก็ คือ การแสดงออกถึงความรู้รักสามัคคี ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาญาติสนิทมิตรสหายที่มาช่วยกันทำงาน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความรัก ความเข้าใจ มีความสุขตามแบบวิถีชีวิตในชุมชนอย่างมั่นคง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน