X

กลุ่มตัวแทนกองทุนหมู่บ้าน รุดแจ้งความเหตุ ผู้ใหญ่บ้านเบี้ยวเงินส่งคืน ธกส.

กลุ่มตัวแทนกองทุนหมู่บ้านคำสว่างน้อย ต.วังตามัว เมืองนครพนม รุดแจ้งความเหตุ ผู้ใหญ่บ้านเบี้ยวเงินส่งคืน ธกส.

11 ก.ค 2566 กลุ่มชุดกรรมการกองทุนหมู่บ้านคำสว่างน้อย ต.วังตามัว เมืองนครพนม เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ.มงคล ยลวิลาศ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เพื่อต้องการให้ดำเนินคดี นายบัญจพล จันทร์แก้ว ประธานกองทุนหมู่บ้าน ข้อหาฉ้อโกงเงินกองทุน โดยมีพฤติกรรมหลังได้รับเงินชำระหนี้เงินกู้จากสมาชิก แต่กลับไม่นำเงินส่งคืนหรือนำฝากเข้าธนาคาร ไม่ครบตามจำนวน กระทั่งความแตกเมื่อทางชุดกรรมการของกองทุนหมู่บ้าน ได้รับหนังสือทวงหนี้จากธนาคาร ธกส. จึงเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบบัญชีของเงินกองทุนกู้ยืมของสมาชิก ทำให้เบื้องต้นพบว่ามีมูลค่าความเสียหายเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 254,185 บาทนี้จริง

จากการสอบถาม นายไพบุญ คำเรือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและหนึ่งในกรรมการกองทุน ได้ให้รายละเอียดต่อผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาประมาณ ปี พ.ศ.2558-2559 ชาวบ้านคำสว่างน้อย หมู่ 5 ต.วังตามัว อ.เมือง จ.นครพนมได้รับเงินกองทุน จำนวน 1,000,000 บาท จากหน่วยงานของรัฐบาล ผ่านธนาคาร ธกส. ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายบัญจพล จันทร์แก้ว (ผู้ใหญ่บ้าน) ทำหน้าที่เป็นประธานกองทุนฯ พร้อมด้วยนางสาววรนันท์ ราชทองยศ เป็นเหรัญญิก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ นำมาให้ลูกบ้านที่เป็นสมาชิกกู้ยืม บ้านคำสว่างน้อยฯ มีสมาชิก อยู่จำนวน 108 คน และสมาชิกสามารถกู้ยืมเงินได้รายละ 8,000 บาท โดยมีเงื่อนไขระยะเวลาการกู้ยืม หากสมาชิกชำระเงินคืนภายใน 7 ปีและส่งงวดเป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี หรือหากกู้ยืมภายใน 2 ปี ก็จะปลอดดอกเบี้ย

จากที่ผ่านมา นายบัญจพล จันทร์แก้ว (ผู้ใหญ่บ้าน) ทำหน้าที่เป็นประธานกองทุนฯและกำกับดูแล ร่วมกับ นางสาววรนันท์ ราชทองยศ ทำหน้าที่เหรัญญิก มักนำเอางานต่างๆของกองทุนกลับไปทำต่อที่บ้าน แต่ไม่มักนำเอกสารหลักฐานต่างๆดังกล่าวนำกลับคืนยังสำนักงาน  จนต่อมา นางสาววรนันท์ เหรัญญิก ได้เสียชีวิตลงและใช้บ้านพักอาศัยแห่งนี้ประกอบพิธีทางศาสนา จึงทำให้เอกสารต่างๆที่ผู้ตายนำมาเก็บรักษาไว้ ถูกรื้อค้นโยกย้ายออกมาไว้ภายนอก โดยมีเพียงเอกสารบางส่วนสามารถนำกลับมาได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเก็บรักษาที่ดีจนได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

กระทั่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่า ทางธกส.ได้มีหนังสือมาทวงหนี้มายังกองทุนของหมู่บ้านคำสว่างน้อย จึงทำให้ทราบว่า ที่ผ่านนายบัญจพลและนางสาววรนันท์ ไม่ได้นำเงินของสมาชิกส่งต่อไม่ครบถ้วนให้กับทางธนาคาร จำนวนเงินถึง 254,185 บาท กรรมการกองทุนฯ จึงได้มีการทวงถาม นายบัญจพล ประธานกองทุนหมู่บ้าน จึงได้ยอมรับผิดและจะขอชำระเงินคืนเงินให้กองทุนหมู่บ้านฯ จำนวนเงินทั้งหมดก่อนวันที่จะเกษียณอายุตามวาระและการประธานกองทุน จำนวน 254,185 บาท ทั้งนี้โดยจะขอผ่อนจ่ายเป็นรายเดือนๆละ 2,000 บาททุกเดือน และจะขอชำระหนี้ทั้งหมดเต็มจำนวน ภายใน 31 ธันวาคม 2567 พร้อมในอัตราดอกเบี้ยร้อย 7 โดยมีเงื่อนไขว่า หากนายบัญจพล ผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่านายบัญจพล ยินยอมให้นายไพบุญฯฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย

แต่หลังจากนายบัญจพล จันทร์แก้ว (ผู้ใหญ่บ้าน)  เริ่มชำระเงินคืนกองทุนหมู่บ้านได้เพียง 2 งวด โดยงวดแรกเดือนเมษายน  พร้อมดอกเบี้ย จำนวน 2,964 บาท และงวดเดือนพฤษภาคม 2,000บาท รวมเป็นเงิน 4,964 บาท ปรากฎว่างวดชำระของเดือนมิถุนาย และกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นายบัญจพลไม่ได้ชำระหนี้ให้กองทุนหมู่บ้านและปฎิเสธการจ่ายเงิน กรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ โดย นายไพบุญ คำเรือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและหนึ่งในกรรมการกองทุน พร้อมกรรมการและสมาชิกกองทุนจึงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายบัญจพล จันทร์แก้ว (ผู้ใหญ่บ้าน) ทำหน้าที่เป็นประธานกองทุนฯและกำกับดูแล ส่วนนางสาววรนันท์ ราชทองยศ ซึ่งทำหน้าที่เหรัญญิกได้เสียชีวิตแล้วก่อนหน้านี้ ให้ข้อมูลต่อผู้สื่อข่าวและยอมรับว่า หลังจากที่ตนได้ยอมรับและยินยอมชดใช้เงินคืนกองทุนตามเงื่อนไขดังกล่าวต้นตามสภาพและไม่ได้ชำระเงิน 2งวดที่ผ่านมานั้นเป็นความจริง แต่ขอปฏิเสธว่าตนจะไม่ชดใช้เงินส่วนได้ตกลงไว้ ตามที่ทางกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯกล่าวหา ส่วนสาเหตุจากที่ไม่ได้ชำระเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน 2เดือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากตนได้นำเงินที่เตรียมสำรองไว้ส่วนนี้ไปซื้อปุ๋ยเพื่อเตรียมจะทำนา ทำให้มีเงินไม่เพียงพอไปชำระหนี้และก็ได้แจ้งขอผ่อนผันต่อกรรมการ โดยจะขอรวบรวมจ่ายพร้อมกันในงวดถัดไป

สำหรับเงินที่ขาดหายไปจากกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 254,185 บาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายบัญจพล จันทร์แก้ว แจ้งกับผู้สื่อข่าว พร้อมกล่าวโต้กลับว่า หลังจากที่ได้มีการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากบ้านของ นางสาววรนันท์ ราชทองยศ เหรัญญิก กลับไปเก็บรักษายังที่ทำการกองทุนแล้ว ตนเองก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบใดๆเพราะตลอดระยะที่ผ่านมาตนและชุดกรรมการกองทุน ต่างก็มอบหมายและให้ความไว้วางใจ นางสาววรนันท์ มาโดยตลอด  แต่เมื่ออ้างว่าไม่มีกุญแจไขตู้เก็บเอกสารจากกรรมการกองทุนฯ ตนจึงจำต้องรับสภาพหนี้ตามที่ทางกรรมการกล่าวหา และไม่คิดว่ากรรมการจะถึงขั้นนำเรื่องนี้มาสู่การแจ้งความดังกล่าว

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้พบ นายไพบุญ คำเรือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและหนึ่งในกรรมการกองทุนหมู่บ้านคำสว่างน้อย ต.วังตามัว อ.เมืองนครพนม กล่าวว่า เหตุที่ตนและกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ขาดความไว้วางใจและพบความไม่ชอบมาพากลของ ประธานกองทุนฯ จากการตรวจสอบพบว่า การนำส่งเงินคืนให้กับธนาคารขาดความโปร่งใส โดยปีแรก ยอดเงินที่ต้องนำส่ง 3.8แสนบาท แต่นำฝากคืน 1.2แสนบาท และในปีที่ 2 ยอดเงินนำส่ง 1.36แสนบาท แต่ปรากฏว่าได้นำเงินเข้าฝากคืนธนาคารเพียง 20,040บาท เท่านั้น นอกจากนี้ทางกรรมการได้ตรวจสอบพบมีการเพิ่มชื่อผู้กู้โดยไม่มีตัวตนอีก 1ราย สร้างความเสียหายต่อกองทุนฯ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 250,000บาท

นอกจากนี้ ทางชุดกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ลงความเห็นว่า นายบัญจพล จันทร์แก้ว (ผู้ใหญ่บ้าน) ประธานกองทุนฯ ได้กระทำการผิดจากเงื่อนไขสัญญาการผ่อนชำระ ตามที่ได้เคยตกลงไว้ว่า หากนายบัญจพล ผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่านายบัญจพล ยินยอมให้ฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย อีกทั้งแสดงท่าทีเพิกเฉยจึงทำให้พากันเข้าแจ้งความ เพื่อต้องการให้ดำเนินคดีต่อไป.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน