X

‘สสจ.นครพนม’ แจ้งเตือนภัย.! ระวังรับประทานเห็ดพิษ “ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แจ้งประชาสัมพันธ์มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางอาหารและน้ำช่วงฤดูฝน เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งอากาศจะมีความเย็นและชื้น เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาดและเห็ดพิษ ซึ่งในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะพบผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

 

“ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม” ได้รับแจ้งว่าพบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดเป็นกลุ่มก้อน 6 ราย มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยทุกรายให้ประวัติได้รับประทานแกงเห็ด โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม และจากการดำเนินการสอบสวนโรคเบื้องต้น โดยทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ พบว่าผู้ป่วยได้ซื้อเห็ดกับคนในชุมชนซึ่งเก็บมาจากป่าสาธารณะ โดยผู้ขายได้นำมาขายและแจกจ่ายญาติ ๆ ในชุมชน บางครัวเรือนได้รับประทานเห็ดชนิดเดียวกันแล้วไม่มีอาการ จะมีอาการเฉพาะกลุ่ม 6 รายนี้ และจากการสอบถามระยะเวลาในการประกอบอาหารในกลุ่มที่มีอาการ พบว่า “ใช้ระยะเวลาสั้นจึงคาดว่าจะเป็นสาเหตุทำให้มีอาการดังกล่าว”

ทั้งนี้ “ทีมสอบสวนโรค” ได้นำภาพถ่ายเห็ดที่ผู้ป่วยรับประทานส่งให้คณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจำแนกชนิดและพิษ โดยผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าเห็ดในกลุ่มเห็ดตับเต่าหรือเห็ดผึ้ง มีมากมายหลายชนิด (species) ที่บริโภคได้ก็มีมากชนิดที่เป็นพิษก็มากชนิดเช่นกัน การเก็บเห็ดในกลุ่มเห็ดตับเต่าหรือเห็ดผึ้งมาบริโภคจึงต้องมีความระมัดระวัง และควรแจ้งเตือนชาวบ้านให้ระมัดระวังในการเก็บเห็ดชนิดนี้มาบริโภค ข้อควรระวังในการรับประทานเห็ดช่วงนี้ แนะนำว่าถ้าไม่มีความชำนาญในการแยกชนิดของเห็ด ไม่ควรเก็บเห็ดป่ามาบริโภคเด็ดขาด เพราะการจำแนกเห็ดจะดูเพียงหมวกหรือสีแต่ลำพังไม่ได้ ต้องดูเห็ดครบทุกลักษณะทั้งดอก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญยืนยัน จึงอยากให้ผู้ที่บริโภคเห็ดและชาวบ้านที่เก็บเห็ด ยึดหลัก 3 ช. เพื่อความปลอดภัยจากเห็ดพิษ ได้แก่ 1) ไม่ชัวร์ คือ ทั้งคนกินและคนเก็บเห็ด หากไม่แน่ใจว่ารู้จักเห็ดชนิดนั้น ๆ ก็ไม่ควรเก็บ-ไม่ควรกิน 2) ไม่เชี่ยวชาญ คือ ถ้าไม่รู้ว่าเห็ดชนิดนั้น อันตรายหรือไม่ ให้สอบถามได้ที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค และ 3) ไม่ชิม คือ ไม่ควรกิน หรือชิมเห็ดที่ไม่คุ้นเคยเพื่อลดความเสี่ยงและปลอดภัยจากเห็ดพิษ นอกจากนี้ควรเลี่ยงการเก็บเห็ดที่โดนฝนชะโดยตรง ซึ่งอาจชะเอาสีดอกและเกล็ดบนหมวกของเห็ดให้หลุดไปหรือทำให้ลักษณะบางอย่างของเห็ดเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญก่อนเก็บเห็ดหรือก่อนปรุงอาหารต้องพิจารณาเห็ดทุกดอกอย่างรอบคอบ เพราะเห็ดที่มีพิษเพียงดอกเดียวก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ส่วนประชาชนทั่วไปควรเลือกซื้อเห็ดกับร้านค้าที่เชื่อถือได้ ที่สำคัญ คือ การปรุงอาหารให้สุกก่อนบริโภค ไม่ควรเก็บเห็ดไว้นานเพราะอาจมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน