จังหวัดนครพนม ประกอบพิธีเครื่องถวายราชสักการะวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่ศาลาประชาคมยงใจยุทธ บริเวณศาลากลางจังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนจังหวัดนครพนม ประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะ วางพานพุ่มทอง – พุ่มเงิน และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ตลอดระยะเวลาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานับประการ ด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพสกนิกร ทำให้ทุกคนได้รับการสนับสนุน การพัฒนาทั้งในด้านทักษะและด้านอาชีพ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจิตอาสาพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราโชบายที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีความรักความสามัคคี รู้จักการแบ่งปัน ช่วยเหลือเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์แห่งความสุขต่อสังคมและประเทศชาติ
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ที่มาของพานพุ่มเกิดจากที่สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ในการทำกิจกรรมและประกอบพิธีต่าง ๆ ดังนั้น จึงได้มีการนำขี้ผึ้งมากดพิมพ์คุ้มงอเหมือนแล้วนำมาติดโครงกระดาษแข็ง ให้มีรูปทรงเหมือนพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวหลวง จากนั้นนำมาตั้งบนพานเพื่อนำไปถวายพระนอกเหนือจากธูปและเทียน โดยเรียกกันว่า พุ่มเทียน ซึ่งพระท่านจะแกะเอาขี้ผึ้งออกมาใส่ใส้ฝั้นเป็นเทียนเล่มเพื่อจุดให้แสงสว่างในเวลากลางคืน ชาวบ้านจึงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งมีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นมา เพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาหรือเครื่องสักการะสิ่งที่เคารพนับถือ เป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความจงรักภักดีในโอกาสต่าง ๆ เช่น พานพุ่มดอกไม้สด หรือพานพุ่มดอกไม้ และพานพุ่มทอง – พานพุ่มเงิน ส่วนพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล มีจุดเริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520 ที่หน่วยอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน ( อส.) ศูนย์สาธิตที่ 1 หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้มีการจัดงานเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเป็นการจัดพิธีถวายพระพรในตอนกลางคืน เนื่องจากในช่วงกลางวันชาวบ้านมีความจำเป็นต้องไปทำงานในเรือกสวนไร่นา ประกอบสถานที่จัดงานในเวลากลางคืนมืดสนิทเพราะไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ทุกคนจึงได้นำเทียนไขมาคนละเล่ม โดยมีการจุดเทียนชัยไว้ที่แท่นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านเพื่อให้เกิดแสงสว่างไสวกับสถานที่ก่อน กระทั่งเวลา 20.00 น. ก็ได้พร้อมใจกันจุดเทียนที่นำและกล่าวคำถวายพระพร จากนั้นได้พร้อมใจกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี 1 จบ และพากันเวียนเทียนประทักษิณรอบพระบรมฉายาลักษณ์ จำนวน 3 รอบ ซึ่งในกิจกรรมครั้งนั้น อส.ได้วิทยุรายงานแจ้งเรื่องการจุดเทียนชัยถวายพระพรเข้าสู่สำนักพระราชวัง ณ พระราชวังไกลกังวล เพื่อรายงานให้พระองค์ได้ทรงรับทราบเป็นระยะๆ จวบจนจบพิธี ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ทางราชการได้มีการประกาศจัดพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง และจากนั้นก็ได้ถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: