X

นครพนม เร่งปรับแผนป้องกันการระบาดช่วงน้ำท่วม หลังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 3 เท่าของช่วงเวลาเดียวกัน

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมร่มฉัตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณธกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 2/2566 เพื่อติดตามและบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 12 อำเภอของจังหวัดนครพนม พร้อมเสนอออกคำสั่งแต่งตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ CDCU และร่างแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม

โดยในที่ประชุมได้มีการสรุปข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในจังหวัดนครพนม ที่ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยอยู่แต่มีจำนวนน้อย สะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 (PCR/ATK) รวม 1,372 คน เสียชีวิตสะสม 15 ราย กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่ได้รับวัคซีน บางรายก็ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ส่วนภาพรวมความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด จังหวัดนครพนมเป็นอันดับ 1 ของเขสุขภาพที่ 8 และเป็นอันดับ 10 ของประเทศ ในส่วนของสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในภาพรวมระดับประเทศ พบผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 52 ราย โดย Time line ของผู้ป่วยที่เสียชีวิต พบว่าเข้ารับการรักษาช้า ด้วยความชะล่าใจว่าตนเองมีความแข็งแรง เนื่องจากอยู่ในช่วงอายุ 35-44 ปี ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี สำหรับข้อมูลของจังหวัดนครพนม ถือเป็นรอบของการระบาดของโรคไข้เลือดออกทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากเป็น 3 เท่าของช่วงเวลาเดียวกัน แต่ยังคงไม่มีผู้เสียชีวิต โดยข้อมูล ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2566 มีผู้ป่วยสะสม 1,364 ราย เป็นผู้ป่วยอำเภอโพนสวรรค์มากสุด รองลงมาเป็นอำเภอธาตุพนม และอำเภอศรีสงครามตามลำดับ ซึ่งจากการดำเนินงานมีพื้นที่ควบคุมโรคได้แล้ว 125 หมู่บ้าน พื้นที่กำลังเกิดโรค 195 หมู่บ้าน พื้นที่เกิดโรคต่อเนื่อง 59 หมู่บ้าน และพื้นที่เฝ้าระวังหลังผ่านแนวโน้มสูงสุดไปแล้ว 74 หมู่บ้าน และเพื่อให้การขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้คณะทำงานระดับอำเภอดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จัดสรรงบประมาณจัดหาทรายกำจัดลูกน้ำ รวมถึงจัดหาและซ่อมบำรุงเครื่องพ่นหมอกควันที่ชำรุดให้สามารถกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ โดยให้บูรณาการร่วมกันดูแล บ้าน วัด โรงเรียน นอกจากนี้ยังจัดให้มีมาประชุมในระดับอำเภอ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในระดับพื้นที่เพื่อการปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรการกำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนทุกวันศุกร์ และการเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในระดับพื้นที่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย วิธีป้องกันไม่ให้ยุงกัด การสังเกตอาการของผู้ป่วย ข้อห้ามในการซื้อยามารับประทานเอง เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค เนื่องจากในช่วงนี้มีสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของยุงลายได้เป็นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อีกครั้ง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน