X

กรมทางหลวงว่าจ้างสามบริษัทที่ปรึกษาร่วมศึกษาระบบโครงข่ายถนนทางหลวงกับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟ

24 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30น. ณ. หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม จ.นครพนม ได้เปิดประชุมเพื่อเสนอแนวคิดและร่างรูปแบบทางเลือก เพื่อการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงเชื่อมต่อสถานีรถไฟทางคู่แนวใหม่สายบ้านไผ่-นครพนม โดย นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้ นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ นายอำเภอเมืองนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมี นายยอดเพ็ชร คำแสงดี รองอำนวยการแขวงการทางนครพนม ฝ่ายปฎิบัติการ พร้อมด้วย รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน ผู้จัดการโครงการ นายณัฐวุธ กองสุทธิ วิศวกรรมจราจร นางปิยากร วัฒนกิจอุดม วิศกรงานทาง นายจตุรวิทย์ บุญพิทักษ์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมปละนางสาวขวัญนุช วงศ์มหาสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม

โดยกรมทางหลวง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้น จำกัด ร่วมกับบริษัท เอเอ็มพี คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น การพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงเชื่อมต่อสถานีรถไฟทางคู่แนวใหม่ สายบ้านไผ่-นครพนม มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน ซึ่งรูปแบบการพัฒนาโครงการทางหลวง ที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวนทั้งหมด 9 โครงการ ประกอบด้วยโครงการปรับปรุงทางเข้าออกสถานีรถไฟ จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วยสถานีธาตุพนม สถานีเรณูนคร สถานีนครพนม และสถานีสะพานมิตรภาพ 3 โดยเส้นทางที่เป็นจุดตัดของเส้นทางรถไฟกับถนนทางหลวง จะเป็นสะพานลอยรถยนต์ข้ามทางยกระดับและมีจุดกลับรถใต้สะพาน

ส่วนโครงการขยายช่องจราจร 3 โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างสถานีรถไฟ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสถานีธาตุพนม จะมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบบริเวณทางเข้าออกสถานีรถไฟ บริเวณทางหลวงหมายเลข 212 ได้แก่การปรับปรุงไหล่ทางการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ บริเวณทางแยก โครงการก่อสร้างสถานีเรณูนคร จะให้มีการพัฒนาและปรับปรุงบริเวณทางเข้า-ออกสถานีรถไฟ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 2031 ได้แก่การปรับปรุงไหล่ทางการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร การปรับปรุงทางเดินเท้าเข้าสถานี ป้ายหยุดรถประจำทางและจุดกลับรถ โครงการก่อสร้างสถานีนครพนม เสนอให้มีการพัฒนาและปรับปรุงบริเวณทางเข้า-ออกสถานีรถไฟบริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 22 ได้แก่การขยายความกว้าง โดยใช้พื้นที่ไหล่ทางการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยก และโครงการก่อสร้างสถานีสะพานมิตรภาพ 3 เสนอให้มีการพัฒนาปรับปรุงบริเวณทางเข้า-ออกสถานีรถไฟบริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 212  ได้แก่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยก

นอกจากนี้มีแผนโครงการขยายช่องจราจร โครงการแรก งานก่อสร้างทางหลวงสาย 212 (มุกดาหาร-ธาตุพนม) ตามแผนพัฒนาในปี พ.ศ.2589 มีการพัฒนาขยายช่องทางจราจร บริเวณ กม.ที่ 442+000 ถึง กม.ที่ 424+000 ระยะทาง 11.25 กม. และโครงการที่สองขยายช่องจราจรพัฒนาในระยะที่ 2 ปี 2584  จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2276 กม. 0+000ถึง กม.13+610 ระยะทาง 36.90 กม.  ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงสาย 2276 (หนองฮี-ปลาปาก) ซึ่งจะแบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2584 การขยายช่องจราจร ถนนทางหลวงหมายเลข 2276บริเวณ กม.ที่ 16+000 ถึง กม.ที่ 27+712 ระยะทางประมาณ 11.25 กม. และการพัฒนาขยายช่องจราจรระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2589 จุดเริ่มต้นโครงการ ถนนทางหลวงหมายเลข 2276 บริเวณ กม.ที่ 0+000ถึง กม. 13+610 ระยะทางประมาณ 13.61กม. ส่วนโครงการที่สาม การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองธาตุพนม ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนทบทวนการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานเพิ่มเติม และในปีพ.ศ. 2589 มีแผนการพัฒนาโครงการขยายช่องจราจรจุดเริ่มต้นโครงการ ที่ถนนทางหลวงหมายเลข 223 บริเวณ กม.ที่ 0+000 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 212 กม.ที่ 8+605 ระยะทางประมาณ 11.25 กิโลเมตร และการพัฒนาในระยะที่ สอง ปีพ.ศ. 2589 การขยายช่องจราจรจุดเริ่มต้นโครงการ ที่จุดตัด ทางหลวง หมายเลข 2276 บริเวณ กม ที่ 0+000 ถึง กม. ที่ 13+610 ระยะทางประมาณ 8.60กม.

นอกจากนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่และทางเลี่ยงเมืองอีกจำนวน 2 โครงการ ได้แก่โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ ทางหลวงหมายเลข 22 สนามบินนครพนม บรรจบทางหลวงหมายเลข 212 อบต.ขามเฒ่า ห่างจากเรือนจำกลางนครพนม ประมาณ 500-600 เมตร ระยะทาง 17 กิโลเมตร และโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ทางหลวงหมายเลข 22 บรรจบทางหลวงหมายเลข 212 บ้านสำราญ จุดบรรจบห่างจาก โรงเรียนบ้านสำราญประมาณ 200เมตร ระยะทาง 200 เมตร มีระยะทางรวมตลอดแนวเส้นทางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร

โดยหวังให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการแสดงออกถึงความต้องการที่จะเข้าร่วมกันพัฒนาโครงการต่างๆ การเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมรับข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนพัฒนาโครงการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการดังนั้นกรมทางหลวงจึงได้กำหนดให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปกับการศึกษาด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาการศึกษา รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารและรับฟังความเห็นของประชาชน หรือร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ทราบถึงทัศนคติความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน