X

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าพระกฐิน ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าพระกฐิน ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น น้อมนำถวายพระสงฆ์ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร


วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ประจำปี 2566 ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นน้อมนำไปถวายแด่พระสงฆ์จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยมี ร.ศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในการประกอบพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระอารามหลวง ตลอดจนเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย โดยมีพระธรรมวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีนายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ร.ศ.ดร.นิยม วงศ์พงศ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะหัวหน้าส่วนราชการ คณะครู อาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเบื้องต้นมียอดจตุปัจจัยถวายพระราชกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย ถวายบำรุงและบูรณะพระอาราม 2,402,657.61 บาท ถวายองค์ครอง 5,000 บาท ถวายพระคู่สวด 2,000 บาท ถวายพระอันดับ 1,000 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,428,657.61 บาท
สำหรับวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 183/13 ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีพระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้วัดพระธาตุพนมเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระธาตุพนม ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 600 เมตร เป็นปูชะนีสถานที่คนไทยและคนลาวให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้สักการะมายาวนานนับหลายร้อยปี เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3687 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และระวางแนวเขตพื้นที่ไว้ประมาณ 17 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 160 หน้า 3217 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2522 ซึ่งภายในบริเวณวัดมีโบราณวัตถุที่สำคัญหลายอย่างที่มีมาแต่ครั้งโบราณ เช่น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ประกอบพิธีสรงน้ำพิพัฒสัตยาของกษัตริย์ทุกรัชกาล กะตึบหรือที่พักของพระอรหันต์รูปต่าง ๆ ปัจจุบันพัฒนาเป็นเสนาสนะ เช่น หอพระนอน (พระปางไสยาส) ศาลาเจติยาภิรัตน์ นอกจากนี้ยังมีหลักศิลาและเสมาหินหรือที่เรียกเสาอินทขีล ที่มีตัวมอมเขียนเป็นปรัชญาสอนบุคคลที่จะเข้าวัดไปนมัสการพระธาตุพนมที่ต้องทำตัวให้สะอาด แต่งกายให้เหมาะสมกาลเทศะ โดยปัจจุบันวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแห่งนี้ กำลังอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ทั้งนี้ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ ซึ่งคำว่า กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด1 ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ซึ่งนอกจากในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้ว กฐินยังมีในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วย แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท สำหรับการได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการถวายผ้ากฐินจัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน ดังนั้นคณะสงฆ์วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน