X

นครพนม ประกอบพิธีทำบุญตักบาตร วางพวงมาลา ถวายราชสดุดี ร.6 เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

จ.นครพนม ประกอบพิธีทำบุญตักบาตร วางพวงมาลา ถวายราชสดุดี ร.6 เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ คณะลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดจังหวัดนครพนม ร่วมกันประกอบพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร จำนวน 45 รูป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่าน

จากนั้นได้เดินทางไปร่วมกันประกอบพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี ณ สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในหลากหลายสาขาเพื่อปวงชนชาวไทยและประเทศชาติ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ การคมนาคม ศิลปวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรม รวมทั้งทรงตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่มีการสถาปนากองลูกเสือขึ้นต่อจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่าเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จากนั้นทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น และพระราชทานคำขวัญแก่ลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ซึ่งในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติในฐานะพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551

นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วร้อยกรองไว้มากถึง 1,236 เรื่อง มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะร้อยกรองนั้นทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งกาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ชนิดต่างๆ อย่างที่ยากจะหากวีผู้ใดเสมอเหมือน แม้ว่าจะเป็นฉันทลักษณ์ที่ยากแก่การประพันธ์ก็ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาได้ไพเราะงดงามทั้งความ คำ และลีลาการประพันธ์ รวมถึงไม่ทรงพระราชนิพนธ์ผิดกฎข้อบังคับของฉันทลักษณ์ โดยพระราชนิพนธ์เรื่องแรกที่ค้นพบ คือเรื่องสั้นแฝงคติ เรื่อง ไม่กลัวผี ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราชกุมาร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2436 ขณะพระชนมพรรษาเพียง 12 พรรษา อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำนำหน้านามว่า นาย นาง นางสาว เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนธงชาติรูปช้างเผือกเป็นธง 5 แถบ ให้ปวงพสกนิกรชาวไทยได้มีความภาคภูมิใจเหมือนกับอารยประเทศ โดยพระราชทานนามว่าธงไตรรงค์
ซึ่งเมื่อพระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคตปวงชนชาวไทย จึงได้รวมใจกันน้อมถวายพระราชสมัญญาว่า พระมหาธีรราชเจ้าอันหมายถึง มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ โดยทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันวชิราวุธ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แม้ภายหลังจะมีการค้นพบหลักฐานว่าช่วงเวลาที่สวรรคตตรงกับช่วงตี 1 ของวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ยังคงให้ถือวันที่ 25 พฤศจิกายนเป็นวันวชิราวุธเช่นเดิม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน